การประกาศกลับประเทศไทยปลายปีนี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดูจะไม่ใช่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่มีการขับเคลื่อนทุกองคายพภายใต้โจทย์ที่เขาตั้ง เดินกันทุกช่องทางไปสู่จุดหมายเดียวคือ เปลี่ยนหลักนิติรัฐ นิติธรรม ปูทางให้นักโทษกลับประเทศไทยแบบไร้มลทิน
ถนนสายแรกที่กำลังเข้าสู่ความเข้มข้นก่อนใครคือ การรับจ๊อบครั้งสำคัญในชีวิตของพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ที่ผันตัวเองมาเป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ก่อนจะรับหน้าเสื่อเป็นประธานคณะกรรมาธิการปรองดองฯของสภา
พลิกจุดยืนของตัวเองจากชายชาติทหารที่เคยได้รับดอกไม้ติดปลายกระบอกปืน ในวันที่บุกขึ้นมาทำรัฐประหารในปี 2549 ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ โดยที่สำคัญที่สุดสำหรับคนเป็นทหารคือการรักษาสถาบันสูงสุดไว้เหนือเกล้า มิให้มันผู้ใดมาล่วงละเมิด
เอาแค่ข้อหาเรื่องนี้เพียงประเด็นเดียวก็เชื่อว่า พล.อ.สนธิ คงมิอาจตอบคำถามต่อสังคมได้แล้วว่า ทำไมวันนี้จึงรับงานเป็นหัวหอกหาทางนิรโทษกรรมให้ทักษิณ ที่สังคมมองว่ากัดกินแผ่นดินสั่นคลอนสถาบันหลัก สร้างความขัดแย้งจนบ้านเมืองแตกเป็นเสี่ยงยากที่จะสมานบาดแผล
บทบาทที่ถูกพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงนำไปกล่าวอ้างว่า “เป็นโจรกลับใจคืนประชาธิปไตยให้กับคนเสื้อแดง" ของ พล.อ.สนธิ ครั้งนี้ ไม่ว่าเขาจะทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ไม่ได้รับอะไรเป็นผลตอบแทน แต่พฤติกรรมนี้ได้ทำลายคุณงามความดี รวมทั้งเกียรติยศศักดิ์ศรีที่สั่งสมมาทั้งชีวิตไปแล้วโดยสิ้นเชิง
อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนให้สังคมได้เห็นด้วยว่า ผู้ชายคนนี้ไร้รากขาดจุดยืน ยอมเป็นเครื่องมือให้คนบางคนกระทบชิ่งถึงสถาบันเบื้องสูง
สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ เป็นเพราะการที่ พล.อ.สนธิ ยอมรับหน้าตาเฉยว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นความผิดพลาดที่สร้างบาดแผลให้กับสังคมไทย จึงเสนอตัวเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ก่อขึ้นนั้น ในอีกมุมหนึ่งย่อมทำให้มีการขยายผลในทางใต้ดินตามงานถนัดของพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงว่า
รัฐประหาร 19 กันยา 2549 มิได้เกิดจากเจตนารมย์ของ พล.อ.สนธิ แต่เกิดจากไม่สามารถขัดอำนาจเบื้องสูงได้
เหมือนที่บางฝ่ายพยายามใส่ร้ายสถาบันโดยใช้เครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ จนทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกปลุกปั่นจนกระทบต่อศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติ
พล.อ.สนธิ จะนอนหลับลงหรือไม่ กับการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ของตัวเอง ไม่มีใครรู้
รู้แต่ว่า แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ส.ส. เป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ แต่ในสายตาของลิ่วล้อพรรคเพื่อไทยคุณค่าของคนชื่อ พล.อ.สนธิ ก็เป็นเพียงแค่กระดาษชำระที่นักโทษใช้งานเดียว แล้วก็ขยำทิ้ง
ผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอต่อ กรรมาธิการปรองดองฯ เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่เปิดโปงโฉมหน้าอีแอบที่ชอบวางตัวเป็นกลางทางการเมืองว่า ท้ายสุดก็เลียไข่แม้วด้วยกันทั้งสิ้น
อย่ามาอ้างว่าข้อเสนอมีหลายทางเลือก ตั้งแต่การใช้กระบวนการปกติ ยันการนิรโทษยกแผง เพราะคนที่มีสติสัมปัญญะดีพอและตาไม่พร่ากับสีของธนบัตรย่อมมีคำตอบในใจว่า
ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทุศีลจริยธรรมต่ำ นั้น ไม่เคยเลือกแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ เพราะจุดหมายคือนักโทษต้องได้ประโยชน์เท่านั้น
โจทย์ที่ชัดเจนเช่นนี้ดูได้จากบทเรีบนของ คอป. เสนอรายงานให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่เคยสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การติติงให้ทบทวนเกี่ยวกับการเยียวยาที่แอบอ้างว่าเป็นข้อเสนอของ คอป. เลือกใช้แต่ประเด็นที่เป็นประโยขน์ต่อพี่ชายของนายกฯนกแก้วทั้งสิ้น
ข้อเสนอทางวิชาการผ่านสถาบันพระปกเกล้า จึงเป็นเพียงแค่ “น้ำยาซักฟอก”ที่สมุนทักษิณจะเอาไปล้างผิดให้นายเท่านั้น
ทั้งนี้หากดูจากผลศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า จะเห็นว่าไม่ความขัดแย้งในตัวเองอย่างมาก เช่น อ้างว่า คตส.เป็นองค์กรที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงควรล้มคดี คตส.ที่ยังไม่สิ้นสุดให้สิ้นซากไป
คำถาม คือ คนไทยทั้งประเทศเห็นว่า คตส. คือต้นเหตุที่ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมจริงหรือ ตอบได้ทันทีว่าไม่ใช่ เพราะมีเพียง นักโทษทักษิณและคนเสื้อแดงที่ถูกปลุกปั่นเท่านั้น ที่ใช้เรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม
การรับลูกของสถาบันพระปกเกล้าในเรื่องนี้จึงเป็นการตอบโจทย์ให้ ทักษิณ ไม่ใช่ตอบโจทย์ให้สังคมไทย อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ศึกษาไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมเสียเองอีกด้วย
เพราะกรณีที่มาของ คตส.นั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีมาก่อนการรัฐประหาร ก็ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ไปแล้วถึงสองคดี คือ คดีที่ดินรัชดา และคดียึดทรัพย์ ที่นักโทษชายทักษิณ หยิบยกขึ้นมาต่อสู้
โดยศาลตีตกทุกประเด็นตั้งแต่ คตส.มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า เป็นการดำเนินการภายใต้ขอบอำนาจตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ส่วนที่ คตส.แต่งตั้งอนุ คตส.นั้น เห็นว่า คตส.ใช้อำนาจตามประกาศ คปค. สามารถแต่งตั้งได้ และไม่ล่วงเลยระยะเวลาตามที่ผู้คัดค้านทำการคัดค้าน เพราะมีกรอบเวลาชัดเจน หากไม่เสร็จสิ้นต้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ ทั้งหมดเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งประเด็นที่ คตส.บางคน ที่อ้างว่าเป็นปฏิปักษ์ของผู้ถูกร้อง แต่งตั้งเป็นประธานอนุ คตส.นั้นก็ชอบแล้วด้วยกฎหมาย
การทำลายคดีที่ คตส.พิจารณาทิ้งทั้งหมดก็เท่ากับสถาบันพระปกเกล้า คือ กลุ่มคนที่รวมหัวกับคนหน้าเหลี่ยมไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ คตส. ทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ
เพราะต่างก็รู้อยู่เต็มอกว่าศาลฎีกาฯเป็นระบบไต่สวนมิใช่ระบบกล่าวหา สามารถเรียกพยาน หลักฐาน เพิ่มเติมนอกเหนือจากสำนวนที่ คตส.ทำ กระบวนการสรรหาองค์คณะก็เป็นไปตามกฎระเบียบมิไดใช้ช่องทางพิเศษแต่อย่างใด การพิจารณาคดีก็เปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้อย่างเต็มที่
พอแพ้คดีแล้วมาโวยวายว่า ต้นทางของคดีมาเพราะรัฐประหารเลยไม่ยอมรับ ไม่ตลกไปหน่อยหรือ
นอกจากนี้สถาบ้นพระปกเกล้ายังมักง่ายไม่มีการจำกัดความให้ชัดว่า ความหมายของ "คดีคตส.ที่ยังไม่สิ้นสุดหมายถึงอะไร"
ในเมื่อ คตส.หมดวาระไปหลายปีดีดักแล้ว และมีการส่งไม้ต่อให้กับ ปปช.ตามที่กฎหมายกำหนด โดยหลายคดีก็ถูกนำขึ้นสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วด้วยซ้ำ
คดีไหนล่ะที่สถาบันพระปกเกล้าถือว่าเป็นคดีคตส.ที่ยังไม่สิ้นสุด?
ที่ซับซ้อนไปกว่านั้นคือ มีบางคดีที่คตส.ส่งให้ศาลฏีกาพิจารณาและมีการตัดสินคดีไปแล้วด้วย เช่น กรณีหวยบนดินซึ่งศาลชี้ว่าเป็นการทำผิดกฎหมายมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก วราเทพ รัตนากร รมช.คลังในขณะนั้น 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา โดยในเนื้อคดีมีการพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรวมถึงความเกี่ยวพันในคดีนี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีขณะนั้นไว้ด้วย
เพียงแต่ศาลไม่สามารถตัดสินความผิดของ ทักษิณ ในคดีนี้ได้ เนื่องจากจำเลยหลบหนี จนศาลต้องจำหน่ายคดีในส่วนของ นักโทษชายรายนี้ ออกไปชั่วคราว และออกหมายจับจำเลยลากคอมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี
คำถามคือ คดีหวยบนดิน ที่ นักโทษทักษิณ ร่วมเป็นจำเลยอยู่ด้วย คือ คดีของคตส.ที่ยังไม่สิ้นสุดหรือไม่
หากยึดหลักคิดที่ว่า คดีของ คตส. ที่ไม่สิ้นสุดต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ นักวิชาการไข่แม้วของสถาบันพระปกเกล้า คิดว่าข้อเสนอนี้เป็นธรรมกับบุคคลที่ถูกตัดสินคดีไปแล้วหรือไม่
นอกจากนี้นักวิชากลวงเหล่านี้ตอบได้ไหมว่า คดีที่ คตส.ส่งไม้ต่อไปให้ ปปช.ดำเนินการถือเป็นคดี คตส.ที่ยังไม่สิ้นสุดด้วยหรือไม่ และหากให้มาเริ่มกระบวนการใหม่คดีเหล่านี้ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของ ปชช.ตามเงื่อนไขของกฎหมายอยู่ดี จะเป็นไปได้หรือที่คดีจะพลิกเปลี่ยนไปภายใต้การพิจารณาของ ปปช.ที่เคยมีมติเห็นด้วยกับสำนวนคดีของ คตส.ไปแล้ว
แน่นอนว่า ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ที่สร้างกลไกนี้ขึ้นมาเป็นเพราะมีธงโละทิ้ง ปปช.ชุดนี้ทั้งชุดอยู่แล้วใช้หรือไม่ ด้วยข้ออ้างเดียวกับ คตส. ก็คือมาจาก คมช. ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงส่วนนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับขี้เมาประสบความสำเร็จ ดังนั้นการเสนอให้ตั้งต้นคดีใหม่ก็เหมือนหมูอยู่ในอวยจะเป่าทิ้งเสียเมื่อไหร่ก็ได้
ที่สำคัญคือ คำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ชี้มูลความผิดอีกหลายคดีที่ยังค้างอยู่ด้วยว่า ทักษิณ ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชินคอร์ป เช่น กรณีเงินกู้พม่า 4 พันล้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคดีที่ยังพิจารณาไม่ได้เนื่องจาก ทักษิณหลบหนี
คดีนี้ต้องไปตั้งต้นใหม่ ทั้งที่มีข้อยุติจากคำพิพากษาของศาลในคดียึดทรัพย์ว่ามีการกระทำความผิดแต่ทำได้แค่ยึดทรัพย์ ลงโทษทางอาญาไม่ได้ เพราะการไต่สวนในคดีนี้ยังเริ่มต้นไมได้ เพราะจำเลยหลบหนี แล้วจะมาลักไก่กันง่าย ๆ ว่า เป็นคดีของ คตส.ที่ยังไม่สิ้นสุดอย่างนั้นหรือ
ช่างเป็นนักวิชาการที่ร่วมมือกับนักโทษ "ยุติความเป็นธรรม" อย่างแนบเนียนจริง ๆ
คงพอเห็นภาพต่อของการทำงานที่สอดรับกันอย่างมีจังหวะจะโคน จบหน้าที่ของชุดนี้ ส.ส.ร.แดงก็เดินหน้าต่อกำหนดกติกาสูงสุดใหม่เพื่อเปลี่ยนตัวองค์กรอิสระ บัญญัติวิธีการสรรหาที่ตัวเองสามารถควบคุมหรือบล็อคโหวตได้ เหมือนสมัยที่ระบอบทักษิณเรืองอำนาจ จากนั้นก็เปิดช่องให้นักโทษที่ถูกยึดทรัพย์จากการปล้นชาติโกงแผ่นดินมีสิทธิ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 102 (7) ในรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ห้ามมิให้ผู้ที่เคยถูกยึดทรัพย์จากการร่ำรวยผิดปกติมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ตามด้วยไม้สุดท้าย นิรโทษกรรมให้ นักโทษพ้นคุก 2 ปี คืนทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้าน เหมือนที่ทักษิณยืนยันจากเกาหลีว่าบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้มลทินไม่คิดติดคุก
จากนั้นก็ยุบสภาเพราะมั่นใจว่า อีสาน- เหนือ ที่เสพติดประชานิยมยิ่งกว่ายาบ้า จะถูกมอมเมาจนเลือกเขาให้กลับมาครองเมืองอีกครั้ง
สิ่งที่น่าเสียใจสำหรับประเทศไทยคือ เรามีคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดีอยู่มากมาย แต่เรามีคนดีที่กล้าหาญทำความดีน้อยมาก การกล่าวอ้างว่าทำเพื่อให้บ้านเมืองกลบสู่ความสงบ ลดความขัดแย้ง ตามที่ทรราชย์กำหนดนั้น
คงไม่สามารถเรียกได้ว่า "ปรองดอง" เพราะมันเป็นการกดหัวคนไทยให้ "สยบยอม" ใต้อุ้งตีนทักษิณ!