“ครม.ปู” สั่งอนุมัติให้ทบทวนมติ ครม.เดิม เม.ย. 54 เลิกโครงการ “อีลิทการ์ด” พร้อมไฟเขียวให้ลุยต่อได้ เตรียมควักงบอีก 100 ล้านทำบัตรขายเศรษฐีโลกเที่ยวไทย คาดปี 57 พลิกมีกำไรแน่ เล็งส่ง “อรุณพร” มือดีค่าย “เอไอเอส” ช่วยงานนายกฯ นั่งบอร์ด “ทีซีพี” ควบตำแหน่งรักษาการ “เอ็มดี” ในช่วงแรก
นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 เรื่องการจำหน่ายกิจการโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด) หรือบัตรเทวดา “อีลิทการ์ด” โดยเห็นชอบให้ดำเนินโครงการต่อไป
พร้อมกันนี้ ครม.ยังได้อนุมัติงบประมาณให้ 100 ล้านบาทจากบัญชีค่าใช้จ่ายค่าทุนจดทะเบียนของบริษัทที่ยังเหลืออยู่ 500 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในช่วงเวลาเริ่มขายบัตรสมาชิกใหม่ ซึ่งบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือทีพีซี ต้องเร่งดำเนินการรวมทั้งสรรหาบุคลากร ผู้จัดการใหญ่ ทีมงาน และจัดระบบงานต่างๆ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน และหลังจากเริ่มหาสมาชิกใหม่แล้วจะมีเงินสดรับจากการขายบัตรเพื่อใช้นำมาบริหารจัดการโครงการต่อไป
“สำหรับการดำเนินโครงการ นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ให้มีการประเมินรายงานผลการดำเนินงานของโครงการในไตรมาสที่สองด้วยว่าจะเป็นอย่างไร” นายภักดีหาญส์กล่าว
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะผู้ถือหุ้นทีพีซี 100% และนายสุรพงษ์ เศวตเศรนี ผู้ว่าการ ททท.ในฐานะประธานบอร์ดทีพีซี ได้จัดทำแผนธุรกิจใหม่ของการดำเนินกิจการบัตรอีลิทการ์ด เสนอ ครม.ว่ามีเป้าหมายจะหาสมาชิกเพิ่มอีก 10,000 ราย ระหว่างปี 2556-2565 เพิ่มเติมจากฐานสมาชิกเดิมที่มีอยู่ 2,562 ราย
สำหรับบัตรสมาชิกที่ขายใหม่กำหนดราคาบัตรละ 2 ล้านบาท และต้องมีค่าธรรมเนียมอีกปีละ 20,000 บาท ซึ่งสมาชิกจะมีอายุ 20 ปี โดยปีแรกหรือปี 2556 กำหนดขาย 1,300 ราย ปีที่ 2 ที่ 1,200 ราย ปีที่ 3 ที่ 1,100 ราย ปีที่ 4-7 ที่ 1,000 ราย ปีที่ 8 ที่ 900 ราย ปีที่ 9 ที่ 800 ราย และปีที่ 10 ที่ 700 ราย โดยได้ประมาณการทางการเงินในปี 2556 หลังจากขายบัตรสมาชิกจะมีเงินสดคงเหลือ 2,016 ล้านบาท แต่ยังขาดทุนอยู่ 117 ล้านบาท เนื่องจากมีเงินขาดทุนสะสมเดิมอยู่ 1,284 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2557 จะเริ่มมีกำไร 242 ล้านบาท ขณะที่ล้างขาดทุนสะสมได้ในปี 2560 และในปี 2585 ที่บัตรครบอายุ 20 ปี จะมีเงินสดคงเหลือ 2,280 ล้านบาท มีกำไร 1,095 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในแผนฟื้นฟูกิจการอีลิทการ์ดยังไม่ได้ระบุว่าจะมีการจัดตั้งเอเยนต์หรือตัวแทนขายบัตรขึ้นมา ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่จะขายบัตรเพิ่มเติมให้ได้ตามเป้าจึงตกอยู่แก่พนักงาน ททท.ที่อยู่ตามสำนักงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
จากแผนการหาสมาชิกเพิ่มในปี 2556 ที่ 1,300 ราย ระบุเป้าหมายการหาสมาชิกตามจุดที่ตั้งของสำนักงาน ททท. ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก 481 ราย จากญี่ปุ่น 97 ราย จีน 236 ราย ขณะที่จะมาจากภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง 436 ราย ได้แก่ รัสเซีย และกลุ่มซีไอเอส 160 ราย สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ 49 ราย สแกนดิเนเวีย 49 ราย เยอรมนี 49 ราย ฝรั่งเศส 40 ราย อิตาลี 49 ราย ตะวันออกกลาง 436 ราย ด้านภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ 303 ราย ได้แก่ อินเดีย 100 ราย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ประเทศละ 41 ราย และโฮจิมินห์ ออสเตรเลีย ประเทศละ 40 ราย ส่วนภูมิภาคอเมริกามีเป้า 80 ราย โดยกำหนดค่าตอบแทนในการหาบัตรสำหรับส่วนราชการ 5% เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้เคยให้เอเยนต์ 10-15%
ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าบัตรที่จะขายใหม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องของการให้วีซ่า 5 ปี ซึ่งจากเดิมให้พำนักในไทยได้ครั้งละ 3 เดือน เปลี่ยนเป็นให้พำนักได้ 12 เดือน โดยเดินทางเข้าออกไม่จำกัดจำนวนครั้ง และให้เข้าพบผู้บริหารระดับสูงของไทยได้ 2 ครั้งต่อปี ได้รับบริการช่วยเหลือจากสำนักงาน ททท.ทั่วโลก
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาผู้เกี่ยวข้องในการให้ส่วนลดต่างๆ ทั้งสายการบิน ร้านค้าปลอดภาษี ค่ารักษาพยาบาล ค่าที่ปรึกษากฎหมาย เป็นต้น ส่วนการสรรหาผู้จัดการใหญ่ กำหนดเงินเดือนที่ 300,000 บาท ซึ่งมีรายงานข่าวว่า นางอรุณพร ลิ่มสกุล อดีตผู้บริหารของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งปัจจุบันช่วยงานนายกรัฐมนตรีอยู่ จะเข้าไปเป็นบอร์ดของบริษัททีพีซี พร้อมกับรักษาการในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ในช่วงแรกด้วย