ASTVผู้จัดการรายวัน - บีทีเอสกรุ๊ปประกาศตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 5-6 หมื่นล้านบาท โดยขายรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของบีทีเอสซีล่วงหน้า 17 ปีให้แก่กองทุนฯ ทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้พิเศษกว่า 1 หมื่นล้านบาท การันตีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสีเขียว-สีชมพู โดยกองทุนฯ นี้จะขายหน่วยลงทุนให้ประชาชนทั่วไปได้อย่างช้าต้น ก.พ. 56
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) มูลค่ากว่า 5-6 หมื่นล้านบาท โดยให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ขายรายได้ค่าโดยสารสุทธิซึ่งจะได้รับจากการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักระยะทาง 23.5 กิโลเมตร ในช่วงระยะเวลาที่ได้รับสัมปทานเป็นเวลา 17 ปีให้แก่กองทุนดังกล่าว โดยจะเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ประชาชนทั่วไปอย่างช้าต้น ก.พ. 2556
หลังจากนี้บริษัทฯ จะยื่นขออนุญาตจัดตั้งกองทุนฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ โดยมีแผนจะจองซื้อหน่วยลงทุนจำนวนหนึ่งในสาม หรือประมาณ 33.33% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนที่ออกจำหน่าย ซึ่งภายหลังจากการขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ ตามแผนจะทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้กำไรพิเศษจากการขายกองทุนฯ ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2555/2556 และรับเงินปันผลจากการถือหุ้นในกองทุนฯ โดยเงินปันผลดังกล่าวจะไม่ถูกหักค่าเสื่อมราคาเหมือนในอดีตที่บริษัทฯ ได้รับจากบีทีเอสซี ทำให้ผลประกอบการ BTS เติบโต 20-30% ต่อปี
“บีทีเอสซีคาดว่าจะได้รับค่าตอบแทนจากการขายรายได้ค่าโดยสารสุทธิให้แก่กองทุนประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท หรืออาจสูงกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สภาวะของตลาดในขณะนั้น ซึ่งภายหลังจากการขายรายได้ค่าโดยสารสุทธิให้แก่กองทุนแล้ว บีทีเอสซียังคงเป็นผู้ดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสต่อไปด้วย”
นายคีรีกล่าวต่อไป แผนการใช้เงินที่กลุ่มบริษัทบีทีเอสได้รับจากการขายรายได้ค่าโดยสารสุทธิให้แก่กองทุนนั้นเพื่อรองรับการเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยเฉพาะส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ สายสีชมพูจากแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าขนาดเบาจากบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากนโยบายรัฐมีแผนขยายระบบขนส่งมวลชนทางรางเพิ่มอีกกว่า 10 เส้นทางเป็นระยะทาง 500 กม.ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงภายในปี 2572
ซึ่งบริษัทฯ มีประสบการณ์และมีความเข้มแข็งทางการเงิน ทำให้มีความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนโครงการดังกล่าว โดยรัฐบาลอยากให้โครงการรถไฟฟ้าเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อแก้ปัญหาจราจร ซึ่งการลงทุนจะใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น BTS น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วและสมบูรณ์ขึ้น
นอกจากนี้แล้ว หากบริษัทฯ ยังมีเงินสดคงเหลือ และมีสภาพคล่องที่ดี ก็มีแผนการที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี) พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ด้วยอีกส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในเรื่องการจ่ายเงินปันผลพิเศษนี้ยังต้องพิจารณาประกอบกับแผนการและความต้องการใช้เงินลงทุนในอนาคต ตลอดจนข้อจำกัดทางกฎหมายและปัจจัยอื่นๆ ด้วย
บริษัทฯ กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2555 ในวันที่ 18 ธันวาคม 2555 กำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิการเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 (Record Date) ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 และวันรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นตามมาตรา 225 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยการปิดสมุดทะเบียนและพักการโอนหุ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555
ทั้งนี้ บีทีเอสซีมีรายได้รับจากการเดินรถไฟฟ้าปีละ 5 พันล้านบาท โดยครึ่งปีหลังนี้บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้จากค่าโดยสารโตขึ้น 12-15% ขณะเดียวกัน เตรียมปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าหลังจากไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารมานานหลายปี โดยมีเพดานที่จะปรับขึ้นอยู่ระหว่าง 18-56 บาท/เที่ยว จากปัจจุบันค่าโดยสารอยู่ที่ 15-40 บาท
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/2555/2556 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 691.18 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,281.57 ล้านบาท โดยมี Operating Ebitda เพิ่มขึ้น 18% เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นและรายได้ค่าสื่อโฆษณาที่สูงขึ้นด้วย