xs
xsm
sm
md
lg

“ณอคุณ” ชี้ไทยต้องเร่งหาแหล่งก๊าซใหม่ คาดอีกไม่เกิน 20 ปีก๊าซหมดอ่าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พลังงาน” เผยไทยต้องเร่งจัดหาแหล่งก๊าซใหม่เพิ่มเติมรับ AEC ห่วงการใช้ผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนสูงถึง 70% มีปริมาณการใช้สูงถึง 4.5 พันล้าน บล.ฟ./วัน “ณอคุณ” ชี้อีกไม่เกิน 20 ปีก๊าซในอ่าวไทยหมดแน่

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยผลิตก๊าซธรรมชาติสูงเต็มกำลังการผลิตแล้ว และหากไม่ดำเนินการหาแหล่งก๊าซแห่งใหม่มาเพิ่มเติม ภายใน 20 ปีข้างหน้าก๊าซจากอ่าวไทยจะหมดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันไทยใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 โดยปีนี้ประเทศไทยใช้ก๊าซสูงถึง 4,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นการผลิตในประเทศร้อยละ 75 และนำเข้าร้อยละ 25 ซึ่งก๊าซในประเทศจะมีกำลังการผลิตสูงสุดในปีหน้า จากนั้นจะเริ่มลดน้อยลง

ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงได้ทำแผนจัดหาก๊าซเพิ่มเติม ประกอบไปด้วย การเจรจาจัดซื้อก๊าซจากประเทศในอาเซียน ได้แก่ พม่า และอินโดนิเซีย ซึ่งพม่าจะเปิดสัมปทานครั้งใหม่ภายในปลายปีนี้ คาดว่าจะมีการแข่งขันรุนแรง และทางกลุ่ม ปตท.จะเข้าร่วมเสนอสัมปทานด้วย ส่วนแหล่งที่อินโดนีเซีย คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ หลังจากปัจุบันทาง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เข้าไปร่วมลงทุนในแหล่งนาทูนา โดยจะต้องสร้างท่อก๊าซอาเซียนเชื่อมโยงจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย มายังไทย

นอกจากนี้ ไทยยังรอความหวังจากพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณสำรองเป็นจำนวนมาก แต่ยังต้องรอข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ หากตกลงกันได้คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาแหล่งก๊าซอีก 10 ปี ขณะเดียวกัน ไทยเตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่ม แต่ต้นทุนการนำเข้าจะสูงมาก ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าได้

ทั้งนี้ ในเวทีสัมมนาหัวข้อ “ความมั่นคงด้านพลังงานไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการตรึงราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) หากไม่เร่งทยอยลอยตัวตามกลไกตลาดก่อนปี 2558 ที่เข้าสู่ AEC ซึ่งอาจทำให้คนไทยต้องอุดหนุนต่างชาติเป็นมูลค่าสูง และเห็นว่าทุกประเทศในอาเซียนต้องร่วมมือให้เกิดความเชื่อมโยง ทั้งสายส่งไฟฟ้า และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาค ซึ่งต้องกำหนดราคาและคุณภาพให้เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น