xs
xsm
sm
md
lg

“ไอเบล” ใช้ไทยผลิตแท่นเจาะปิโตรเลียม อ้อน กนอ.ขอเช่าที่แหลมฉบังนาน 25 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไอเบล ผู้ผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมจากนอร์เวย์ร้อง กนอ.ขอเช่าที่ในแหลมฉบังระยะยาว 15-25 ปีเพื่อให้คุ้มต่อการลงทุนใหม่ หลังเหลือเวลาเช่าอีกแค่ 5 ปี เผยเตรียมใช้ฐานการผลิตในไทยประกอบแท่นขุดเจาะฯ ใหญ่ขึ้นขนาด 1 หมื่นตัน จากล่าสุดทำสถิติผลิตแท่นกุดรุนให้สแตทออยล์ขนาด 6 พันตัน

นายสติก เจสเซ่น รองประธานบริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจแท่นขุดเจาะ บริษัท ไอเบล เอเอส ประเทศนอร์เวย์ เปิดเผยว่า บริษัทจะประมูลเพื่อก่อสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติโครงการ Dagny ให้บริษัทสแตทออยล์ ซึ่งเป็นผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมขนาดใหญ่ที่บริหารงานโดยรัฐบาลนอร์เวย์ในเร็วๆ นี้ หากได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะประมูลก็จะใช้ฐานการผลิตในไทยที่แหลมฉบัง ซึ่งเป็นฐานการผลิตใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากไอเบลที่นอร์เวย์ โดยจะผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมที่มีน้ำหนักถึง 10,000 ตัน

ทั้งนี้ ไอเบล (ประเทศไทย) ประสบความสำเร็จในการก่อสร้างเครื่องจักรและส่วนประกอบบนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมขนาดใหญ่สุดนับตั้งแต่ดำเนินการมา มีน้ำหนัก 6,000 ตัน หรือมีขนาดเทียบเท่าตึก 8 ชั้น โดยการผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมดังกล่าวนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างและเครื่องจักร ทำหน้าที่ในการแยกก๊าซออกจากน้ำมันหลังจากการขุดขึ้นมาแล้ว โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2554 และดำเนินการเสร็จสิ้นในเดือน ก.ย. 2555 มูลค่ารวม 2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าแรงประมาณ 2 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ไอเบลคว้าสิทธิในการดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันของกุดรุน แพลทฟอร์ม ที่ตั้งอยู่กลางทะเลเหนือ ซึ่งดำเนินงานโดยสแตทออยล์ โดยแท่นขุดเจาะทั้ง 3 โมดูลถูกแบ่งผลิต ประกอบติดตั้งในนอร์เวย์และไทย โดยแท่นที่ผลิตในไทยที่แล้วเสร็จจะใช้เวลาขนส่งไปยังนอร์เวย์ 35 วัน เพื่อประกอบแท่นส่วนที่เป็นยูทิลิตี และลีฟวิ่งควอเตอร์ ที่มีน้ำหนัก 4,500 ตันที่นั่น ก่อนขนส่งแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมที่สมบูรณ์ไปให้สแตทออยล์ โดยแท่นดังกล่าวมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 1.2 หมื่นบาร์เรล/วัน และก๊าซธรรมชาติ 211 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2557

นายจิม ไรอัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเบล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกให้ไทยเป็นฐานการผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมันกุดรุนนั้นเนื่องจากไทยมีบุคลากรที่มีความสามารถ มีท่าเรือน้ำลึก และค่าแรงที่ต่ำกว่านอร์เวย์ถึง 8 เท่า โดยได้รับการยอมรับทั้งคุณภาพมาตรฐานจากสแตทออยล์ และซัปพลายเออร์ โดยยอมรับว่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำแท่นนี้ต้องนำเข้ามาทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้รัฐช่วยเหลือคือ บริษัทต้องการเช่าที่ระยะยาว 15-25 ปีในพื้นที่ประกอบติดตั้ง (Assembly Yard) ในท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้เพียงพอที่จะคืนทุนในการสร้างท่าเรือ โดยปัจจุบันบริษัทมีระยะเวลาเช่าพื้นที่อยู่กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อีก 5 ปีเท่านั้น ซึ่งตามมาสเตอร์แพลนของท่าเรือแหลมฉบังจะนำพื้นที่เช่าของบริษัทใช้ท่าเทียบเรือ หากไม่ได้รับการต่อสัญญาเช่าก็อาจจะย้ายไปลงทุนที่ระนองเนื่องจากมีทะเลน้ำลึก แต่ยังไม่มีระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเกาหลีมีท่าเทียบเรือเป็นของตนเอง ทำให้ประหยัดค่าขนส่ง

“ขณะนี้บริษัทได้พูดคุยกับบีโอไอเพื่อขอเช่าพื้นที่นี้ เนื่องจากเจ็ตตี้แหลมฉบังมีความแข็งแกร่งที่ใช้ลากแท่นขุดเจาะแทนการยก คาดว่าภายใน 6 เดือนข้างหน้าจะรู้ว่าจะได้อยู่ที่นี่อีกนานเท่าใด”

ปัจจุบันความต้องการใช้ปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตลาดผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมมีความต้องการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในทะเลเหนือ โดยลูกค้าหลักคือสแตทออยล์ ส่วนในไทยยังไม่เคยเข้าประมูลสร้างแท่นขุดเจาะให้ บมจ.ปตท.สผ.แต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น