xs
xsm
sm
md
lg

สรุปสอบ พี.ซี.แอร์ทิ้งลูกทัวร์ไร้ผิด จ่อบินใหม่-เยียวยาซื้อตั๋วล่วงหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - บพ.เผยสอบ พี.ซี.แอร์ทิ้งลูกทัวร์เกาหลี ไร้คนผิด ขณะที่ พี.ซี.แอร์ดิ้นขอบิน พ.ย. ขนลูกค้าทัวร์เกาหลีจ่ายค่าตั๋วไปแล้ว 600 คน ด้าน บพ.ยังไม่อนุญาตจนกว่าจะส่งแผนการบินและการเยียวยาผลกระทบที่ชัดเจน

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสายการบิน พี.ซี.แอร์ไม่สามารถให้บริการได้และทำให้ผู้โดยสารตกค้างที่สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ และได้รายงานต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยไม่มีการถอนใบอนุญาต พี.ซี.แอร์ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดในกระบวนการให้บริการ ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนการออกกฎกระทรวงคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารสายการบินเช่าเหมาลำนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1 เดือน

ทั้งนี้ สายการบิน พี.ซี.แอร์ได้ขอทำการบินแบบเช่าเหมาลำไปประเทศเกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้บริการผู้โดยสารจำนวน 600 คนที่เสียเงินซื้อทัวร์ไปแล้ว แต่ บพ.ยังไม่อนุญาต โดยให้ พี.ซี.แอร์จัดส่งเอกสารรายละเอียด เช่น 1. สัญญากับบริษัททัวร์ 12 บริษัทในการเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นและการดูแลลูกค้า 600 คน 2. สัญญาการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ซึ่ง พี.ซี.แอร์ได้เปลี่ยนผู้ให้บริการจากบริษัทแจชิน เป็นตัวแทนจากประเทศฮ่องกงแทน ส่วนหนี้ค่าน้ำมันกับบริษัทแจชินนั้นได้รับการยืนยันว่า พี.ซี.แอร์ได้ชำระหมดแล้ว 3. ข้อตกลงกับตัวแทนขายตั๋ว ซึ่งยังคงใช้บริษัท Sky Jet เหมือนเดิม

“พี.ซี.แอร์ขอทำการบินตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายนนี้เพื่อดูแลผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วไปแล้ว โดยขอทำการบินแบบเช่าเหมาลำรวม 4 เที่ยวบิน แต่รูปแบบจะไม่บินวนเหมือนที่ผ่านมา โดยจะบินไปส่งและจอดเพื่อรอรับกลับ ใช้เวลาเที่ยวละ 3 วัน ซึ่งจะทำให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้นเนื่องจาก พี.ซี.แอร์มีเครื่องบินเพียงลำเดียว แต่ บพ.ยังไม่ได้อนุญาตเพราะ พี.ซี.แอร์ยังไม่ส่งเอกสารมายืนยันให้ บพ.มั่นใจในการให้บริการ เพียงแต่ทราบว่ามีการวางแผนการบินไว้ค่อนข้างดี หากมีความชัดเจนก็อาจจะได้รับอนุญาตและให้บินได้ในสัปดาห์หน้า”

ส่วนในเดือนธันวาคมจะได้รับอนุญาตหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแผนที่ พี.ซี.แอร์ต้องจัดส่งเพื่อสร้างความมั่นใจ ทั้งแผนธุรกิจ การดูแลผู้โดยสารในกรณีต่างๆ ซึ่งต้องมีสายการบินอื่นเป็นพันธมิตรอย่างชัดเจน เอเยนต์ขายตั๋ว และบริษัทเติมน้ำมันอากาศยาน
กำลังโหลดความคิดเห็น