ปูนซิเมนต์ไทยโอดปีนี้กำไรวูบต่ำกว่าปีก่อนที่ 2.7 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักมาจากธุรกิจเคมีภัณฑ์ หลังรับรู้รายได้จากธุรกิจร่วมทุนเคมีภัณฑ์หายไปแล้ว 6 พันล้านบาท โชคดีได้ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างเข้ามาช่วยพยุง โดยไตรมาส 3/55 กำไร 6.4 พันล้านบาท ลดลง 13% ด้านบอร์ดอนุมัติการลงทุน 2.32 หมื่นล้านบาทรองรับการเป็นผู้นำธุรกิจในอาเซียน ตั้งโรงปูนซีเมนต์ในอินโดฯ และกัมพูชา รวมทั้งขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในไทย
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/25555 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 104,286 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11% มาจากปริมาณการขายธุรกิจซีเมนต์และเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น โตขึ้นจากไตรมาสก่อน 4% และมีกำไรสุทธิ 6,416 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากมาร์จิ้นธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ลดลง แต่ก็เพิ่มขึ้นถึง 50% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างเติบโตดีขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจเคมีภัณฑ์
ส่วน 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทฯ มีรายได้รวม 307,711 ล้านบาท โตขึ้น 10% และมีกำไรสุทธิ 16,668 ล้านบาท ลดลง 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากขาลงของธุรกิจเคมีภัณฑ์
เชื่อว่าไตรมาส 4 นี้ธุรกิจเคมีภัณฑ์จะค่อยดีขึ้นหรือทรงตัวต่อเนื่อง โดยเดือน ธ.ค.นี้เม็ดพลาสติกพีอีจะมีสเปรดอยู่ที่ 430-450 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดีขึ้นกว่าปัจจุบันที่เม็ดพลาสติกพีอีมีสเปรดอยู่ที่ 420 เหรียญสหรัฐ และปีหน้ากำลังการผลิตใหม่ของปิโตรเคมีโลกจะเพิ่มขึ้นแค่ 2.5 ล้านตันต่ำกว่าปีนี้ที่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาดเพียง 3-4 ล้านตันเนื่องจากเศรษฐกิจโลกอ่อนตัวลง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเดิมก็มีการลดกำลังการผลิตลงด้วย ทำให้แนวโน้มราคาวัตถุดิบ คือแนฟทาจะลดลง ส่งผลให้สเปรดเม็ดพลาสติกขยับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทฯ มั่นใจในปีนี้รายได้เป็นไปตามเป้าหมาย 4.1 แสนล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนเกือบ 10% แต่กำไรสุทธิจะลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 27,280 ล้านบาทมาจากธุรกิจเคมีภัณฑ์เป็นหลัก แม้ว่าธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างจะมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตเหนือความคาดหมายแต่ก็ไม่สามารถชดเชยกำไรที่ลดลงจากธุรกิจเคมีภัณฑ์ได้ โดย 9 เดือนแรกปีนี้บริษัทฯ รับรู้รายได้จากบริษัทร่วมทุนธุรกิจเคมีภัณฑ์ลดลงไปถึง 6 พันล้านบาท
“ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ธุรกิจเคมีภัณฑ์มีรายได้รวมคิดเป็น 48% และกำไรสุทธิเป็น 14% ของกำไรรวม ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2/2555 ที่มีรายได้คิดเป็น 50% ของรายได้รวมและกำไรคิดเป็น 2% ของกำไรรวม ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์มีรายได้รวม 16% แต่มีกำไรสุทธิคิดเป็น 38% และธุรกิจวัสดุก่อสร้างมีรายได้คิดเป็น 4% แต่มีกำไรสุทธิคิดเป็น 13% โดยไตรมาส 4 เป็นช่วงจังหวะที่เคมีภัณฑ์ Weak Season แต่ซีเมนต์จะดีต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2556 ส่วนธุรกิจกระดาษจะทรงตัว”
นายกานต์กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้เป็นปีแรกที่ความต้องการใช้ซีเมนต์ในประเทศกลับไปใกล้เคียงกับเมื่อ 15 ปีก่อนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งความต้องการใช้ซีเมนต์ในประเทศอยู่ที่ 35 ล้านตัน นับเป็นอุตสาหกรรมที่กลับมาฟื้นตัวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยปีนี้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์โตขึ้น 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ราคาขายซีเมนต์ต่ำกว่าปีก่อน 50 บาทต่อตัน
นายกานต์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการลงทุน 2.32 หมื่นล้านบาทเพื่อขยายการลงทุนในอาเซียนและไทยตามวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นผู้นำธุรกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน โดยอนุมัติตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ครบวงจรทางภาคตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตปีละ 1.8 ล้านตัน ใช้เงินลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตกลางปี 2558 เพื่อสนองความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในอินโดนีเซีย โดยปีนี้อินโดนีเซียมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อยู่ที่ 54 ล้านตัน และจะมีอัตราการเติบโต 5-10% ในช่วง 10 ปีข้างหน้า
โครงการขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มสายการผลิตที่ 2 อีก 9 แสนตัน/ปีในกัมพูชา ใช้เงินลงทุน 5,500 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในกลางปี 2558 โดยสายการผลิตที่ 2 จะก่อสร้างอยู่ภายในบริเวณเดียวกับสายการผลิตที่ 1 ของกัมปอตซิเมนต์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งแรกในประเทศกัมพูชา มีกำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในกัมพูชาอยู่ที่ 2.9 ล้านตัน โตขึ้นเฉลี่ย 5-10% ในช่วง 10 ปีข้างหน้า
โครงการขยายกำลังการผลิตกระดาษอุตสาหกรรมและบรรจุภัณฑ์อีก 4 แสนตัน/ปีในไทย ใช้เงินลงทุน 6,700 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2557 โครงการดังกล่าวทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ใหญ่ที่สุดในอาเซียนคิดเป็น 2.3 ล้านตันต่อปี รองรับความต้องการตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความมั่นคงของภูมิภาคนี้
“ในปีนี้บริษัทฯ ใช้เงินในการเข้าซื้อกิจการ M&A ไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมการซื้อหุ้นบริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (GLOBAL) อีก 1.1 หมื่นล้านบาท”