xs
xsm
sm
md
lg

คน กทม.เตรียมใจเจอจราจรติดหนึบ เผยปี 57 รถไฟฟ้าก่อสร้างหลายสาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนข.หวั่นปี 57-59 จราจรสุดวิกฤต เหตุรถไฟฟ้าหลายสายเริ่มก่อสร้างพร้อมกัน เผย ถ.พหลโยธินหนักสุดเหตุรถไฟฟ้าสีเขียวก่อสร้างตลอดแนวกระทบ 3 แยกใหญ่รัชโยธินอ่วมต้องรื้อสะพาน อนุสาวรีย์หลักสี่เจอจุดตัดสีชมพู เสนอจัดเป็นถนนรถเมล์วิ่งเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนลดใช้รถส่วนตัว ส่วนผู้รับเหมาต้องร่วมมือและรับความเสี่ยงค่าก่อสร้างเพิ่ม

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2557-2559 จะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทางพร้อมกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรใน กทม.อย่างมาก ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้รับเหมาจะต้องมีการวางแผนจัดจราจรร่วมกันเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างน้อยที่สุด

โดยแนวคิดเบื้องต้นถนนที่เป็นแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า เช่น พหลโยธิน ซึ่งปัจจุบันมีรถเมล์วิ่งหลายสายอาจจะต้องจัดระบบรถเมล์ และกำหนดให้เป็นถนนรถเมล์วิ่งเฉพาะ (Bus Way) ในบางช่วงเวลา โดยจัดจุดจอดรถบริการสำหรับประชาชนเพื่อลดปริมาณรถส่วนตัว

ทั้งนี้ ถนนพหลโยธินจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากเป็นแนวก่อสร้างหลักของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 19.5 กิโลเมตรตลอดสาย และหากเกิดปัญหาจราจรจะกระทบต่อเนื่องไปถึงถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว และถนนวิภาวดีรังสิตที่เชื่อมกันเป็นวงแหวนด้วย โดยตามแผนขณะนี้พบว่ามี 3 จุดใหญ่ที่จะมีปัญหาจราจรอย่างมาก คือ สี่แยกรัชโยธินซึ่งจะมีการทุบข้ามแยกสะพานรัชโยธินระหว่างก่อสร้างเพื่อปรับให้สอดคล้องกับโครงสร้างตอม่อของรถไฟฟ้า สี่แยกเกษตร และช่วงอนุสาวรีย์หลักสี่ซึ่งเป็นจุดที่เป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)

“ปกติทุกวันนี้ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนถนนพหลโยธินไม่มีการก่อสร้างก็รถติดอยู่แล้วแทบจะตลอดสายจนถึงอนุสาวรีย์ ประกอบกับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ถนนไม่มีเพิ่ม จึงต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการจราจรอย่างมากในช่วง 3 ปี โดยอาจต้องหาพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเบี่ยงการจราจรแทนถนนที่ถูกแบ่งไปเป็นพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึงการวางแผนก่อสร้างของผู้รับเหมาเพื่อคืนผิวจราจรกลับมาโดยเร็วที่สุดต้องทำอย่างไร เป็นต้น มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้นเพราะผู้รับเหมาต้องบริหารความเสี่ยงในการจัดจราจรด้วย คน กทม.ต้องเจอสภาพจราจรติดขัดในช่วง 3 ปีนั้นแน่นอน แต่การก่อสร้างรถไฟฟ้าต้องเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวและยั่งยืน ส่วนบัสเลนที่ผ่านมาทำแล้วไม่ค่อยได้ผลและถูกร้องเรียน ที่แบ่งพื้นที่ถนนที่มีน้อยอยู่แล้วออกไปให้รถเมล์ แม้จะเป็นวิธีที่ดีแต่ทำยาก” นายจุฬากล่าว

สำหรับรถไฟฟ้าที่เตรียมเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2555 เพื่อเปิดประมูลในปี 2556 และเริ่มก่อสร้างในปี 2557 ประกอบด้วย 1. สายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 19.5 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 59,911.48 ล้านบาท 2. สายสีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) มูลค่าประมาณ 54,000 ล้านบาท ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะสามารถต่อขยายเส้นทางจากจุดสิ้นสุดเดิมที่มีนบุรีออกไปอีก 1 กิโลเมตร จนถึงสุวินทวงศ์ตามที่ ส.ส.ในพื้นที่เรียกร้องได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 2 เฟสเพื่อไม่ให้ล่าช้า เพราะการขยายเส้นทางจะต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ และต้องพิจารณาสถานที่ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงใหม่ 3. สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) 17.5 กม. และ (ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี) 20 กม. มูลค่าประมาณ 1.37 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น