ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เตรียมรณรงค์แจกแถลงการณ์ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และปลุกมวลชนคนอยู่กับป่าในทุกอำเภอของจังหวัดตรัง พร้อมยื่นหนังสือ 4 ข้อเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
สืบเนื่องจากสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นำกำลังเข้าไปตัดฟันสวนยางพาราในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู และรื้อสะพานเข้าพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านหาดสูง
วันนี้ (9 เม.ย.) ที่มูลนิธิอันดามัน เลขที่ 35/10 หมู่ที่ 4 ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง นางกันยา ปันกิติ พร้อมด้วย นายสมนึก พุฒนวล และกรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ประมาณ 20 คน ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น และทิศทางการขับเคลื่อนของเครือข่าย
นางกันยา ปันกิติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า จากที่มีกระแสข่าวว่า ชาวบ้านใช้ความรุนแรงขัดขืนการปราบปรามของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย กรณีบ้านหาดสูง พี่น้องได้กราบวิงวอนร้องขอ เหมือนคนไม่มีทางสู้ แต่ในที่สุด ก็ถูกฟันทำลายสะพานเข้าหมู่บ้านโดยไม่มีความปรานี ทั้งๆ ที่สำนักงานโฉนดชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชะลอการรื้อถอนสะพาน และส่งข้อมูลไปให้สำนักงานโฉนดชุมชนภายในวันที่ 10 เม.ย. แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม
“นอกจากนั้น มีข่าวว่าเร็วๆ นี้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จะนำกำลังประมาณ 200-300 คน จะเข้าไปรื้อถอนสวนยางพาราที่บ้านตระ การกระทำเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้มารังแกคนจนที่อยู่อาศัยในชุมชนดั้งเดิมได้อย่างไร แสดงว่า รัฐบาลไม่ได้ปรองดองกับชาวบ้าน ไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายการรับรองสิทธิชุมชน ตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และคนไทย ขอให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล และกรมอุทยานฯ ด้วย” นางกันยา กล่าว
ด้านนายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ทางเครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน โดยให้คุ้มครองพื้นที่ และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร 2.ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ หยุดการกระทำที่ป่าเถื่อนและแอบแฝงทุจริต และหันกลับมาทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการดูแลรักษาป่า 3.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กำกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานอื่น เพื่อให้เกิดการปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง และยุติการกลั่นแกล้ง ข่มขู่คุกคามดำเนินคดีในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม 4.ให้สังคมร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง และขอบเขตการใช้อำนาจรัฐของกรมอุทยานฯ
นายสมนึก กล่าวต่อไปว่า ทางเครือข่ายฯ มีกำหนดจะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 10 เม.ย. จะเคลื่อนขบวนรณรงค์ออกแจกแถลงการณ์ในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง คาดว่า จะมีสมาชิกเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 200 คน ซึ่งจะมีทั้งขบวนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ด้วย
หลังจากนั้น ในช่วงสัปดาห์นี้จะรณรงค์อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดตรัง โดยเฉพาะอำเภอที่ติดอยู่ในเขตป่า เพื่อให้คนตรังได้รู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเข้าใจว่าสมาชิกเครือข่ายฯ ไม่ใช่ผู้บุกรุกป่า แต่เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่มายาวนาน และมีกติกาในการดูแลรักษาป่าอย่างชัดเจน ในส่วนพี่น้องที่เดือดร้อนจากการประกาศเขตป่าทับซ้อนพื้นที่กลุ่มอื่นๆ ก็จะได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับเครือข่ายฯ ต่อไป