xs
xsm
sm
md
lg

“อารักษ์” สั่งเลิกส่งออกน้ำมันดิบที่ขุดได้ในไทยภายในปี 56 เล็งนำกลับมาใช้ใน ปท.ทั้งหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อารักษ์ ชลธาร์นนท์
“อารักษ์” สั่งเลิกส่งออกน้ำมันดิบที่ขุดได้ในไทยภายในปี 56 เล็งนำกลับมาใช้ในประเทศทั้งหมดป้องกันน้ำมันขาดแคลนในอนาคต “บางจาก” เผยสาเหตุโรงกลั่นไม่ซื้อน้ำมันดิบไทยเพราะขายราคาขายแพงเกินจริง ขณะที่ผู้ผลิตเน้นการส่งออกเพราะได้กำไรสูงกว่า

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในปี 2556 กระทรวงพลังงานจะยกเลิกการส่งออกน้ำมันดิบที่ขุดได้ในไทยทั้งหมดเพื่อให้นำกลับมาใช้ในประเทศและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่าในอนาคตน้ำมันในตลาดโลกจะเหลือน้อยลง อีกทั้งมีความผันผวนด้านราคาจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในต่างประเทศ ดังนั้น ไทยต้องหาวิธีนำน้ำมันดิบที่ขุดได้ในประเทศทั้งหมดกลับมาใช้หรือสำรองไว้ใช้ในอนาคตต่อไป

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 1.3-1.4 แสนบาร์เรลต่อวัน แต่ส่งออกน้ำมันดิบเพียง 33,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเพียงแค่ 4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยสาเหตุที่ส่งออกเนื่องจากน้ำมันดิบของไทยเมื่อนำมากลั่นแล้วจะได้เบนซินปริมาณมากซึ่งเกินความต้องการใช้ในประเทศจึงต้องนำส่วนเกินไปส่งออกแทน อย่างไรก็ตาม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสามารถออกประกาศระงับการส่งออกได้ทันmuโดยไม่ต้องรอแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใด แต่ต้องรอให้กลุ่มโรงกลั่นได้ปรับตัวรองรับนโยบายดังกล่าวก่อนจึงจะออกประกาศ

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า สาเหตุสำคัญที่โรงกลั่นไม่นำน้ำมันดิบในไทยมากลั่นทั้งหมดเนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบของไทยเห็นว่าหากส่งออกไปขายต่างประเทศจะได้ราคาสูงกว่า ดังนั้นจึงกำหนดราคาขายให้โรงกลั่นในประเทศสูงเกินไป ทำให้โรงกลั่นหันไปนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า อีกทั้งการสั่งนำเข้ายังได้ชนิดน้ำมันที่ตรงตามความต้องการมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐต้องการให้นำน้ำมันดิบที่ขุดได้ในประเทศมาใช้ทั้งหมดจำเป็นต้องให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบลดราคาจำหน่ายให้โรงกลั่นเพื่อให้คุ้มค่าต่อการกลั่นและจำหน่ายในประเทศ สำหรับบางจากฯ ได้ใช้น้ำมันดิบในประเทศมากลั่น 50% และนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ 50% โดยหากต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันดิบในประเทศมากลั่นเพื่อจำหน่ายก็สามารถทำได้ เนื่องจากโรงกลั่นมีความพร้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น