xs
xsm
sm
md
lg

4 หน่วยงานดันอุตฯ อาหารไทยสู่ฮับอาเซียนปี 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


3 หน่วยงานรัฐ ก.อุตฯ-วิทย์-เกษตรฯ ผนึกภาคเอกชน ส.อ.ท. เดินหน้า Thailand Food Valley ดันไทยก้าวสู่ศูนย์กลางผลิตอาหารแปรรูปในภูมิภาคอาเซียนในปี 2558 ดันมูลค่าส่งออก 2 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า และก้าวสู่ฮับเอเชียอีก 10 ปีข้างหน้า

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการร่วมลงนาม (MOU) ระหว่าง ส.อ.ท.กับ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ทั้ง 4 หน่วยงานจะร่วมบูรณาการดำเนินงาน “Thailand Food Valley” เพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในภูมิภาคอาเซียนในปี 2558 และอีก 10 ปีข้างหน้าก้าวสู่ศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชีย (Asia Food Valley)

นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท.กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะสนับสนุนให้เอกชนมีการปรับตัวในการเน้นใช้เทคโนโลยีที่จะนำวัตถุดิบทางการเกษตรของไทยที่เข้มแข็งมาเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น จากปัจจุบันไทยมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแค่เพียง 30% เท่านั้น จากนี้ไปจะต้องให้ได้อย่างต่ำ 50% และคาดหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะทำให้ไทยมีมูลค่าการส่งออกกลุ่มอาหารเป็น 2 ล้านล้านบาท

นายพสุ โลหารชุน อธิบดี กสอ.กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีต้นแบบมาจากเนเธอร์แลนด์ที่จะเน้นการสนับสนุนให้รวมกันเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ที่เข้มแข็งเพื่อแลกเปลี่ยนวัตถุดิบและเทคโนโลยีการผลิตและเชื่อมโยงการผลิตไปยังภูมิภาคอาเซียนและผลักดันให้ไทยเป็นประเทศอาหารสำรองที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกเนื่องจากคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าสัดส่วนการบริโภคของประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 50% ขณะที่ภาคการผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มแต่ละประเทศจะลดต่ำจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และหลายประเทศก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมมากขึ้น

“ปี 2558 หากทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าและมีความหลากหลายสินค้ามากขึ้น เราก็จะสามารถส่งออกได้อย่างต่ำ 1.8 ล้านล้านบาท” นายพสุกล่าว

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ปี 2554 ไทยมีการส่งออกอาหารประมาณ 18 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การค้าอาหารของโลกมีสัดส่วนสูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญ เท่ากับว่าไทยส่งออกคิดเป็นเพียง 0.8% ของตลาดโลกเท่านั้น จึงยังมีโอกาสที่จะพัฒนาได้อีกมาก ดังนั้นจึงต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาหรือ R&D มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น