“ซีพี” เปิดแผนลงทุนด้านปศุสัตว์ขนาดใหญ่ในจีน มูลค่า 3 หมื่นล้านหยวน โดยใช้นวัตกรรมใหม่ และเทคโนโลยีเกษตร ตอบสนองความต้องการอาหารโลก เตรียมนำร่องโครงการ “ผิงกู่” เลี้ยงไก่ 3 ล้านตัว เพื่อผลิตไข่วันละ 2 ล้านฟอง เน้นฟูดเซฟตี้ รบ.จีนให้ความสำคัญ เผยราคาจำหน่ายต่อหน่วยจะสูงมาก เน้นกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 10 ของประชากรจีน 1,300 ล้านคน
นายสารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ซีพีมีโครงการศึกษาด้านนวัตกรรมปศุสัตว์ที่เป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร ไก่ ไก่ไข่ในจีน อีกกว่า 10 โครงการ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท แต่จะลงทุนมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับเครือซีพีจะพัฒนาบุคลากรมารองรับทันมากน้อยเพียงใด โดยโครงการเหล่านี้จะใช้เทคโนโลยีพัฒนาการเกษตรรองรับความต้องการอาหารของโลกที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสำคัญที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ โครงการไก่ไข 3 ล้านตัวผิงกู่ ภายใต้นโยบาย “สามเกษตร” หรือ “ซานหนง” (การเกษตรกร ชนบท และเกษตรกร) ของรัฐบาลจีน เป็นโครงการไก่ไข่ครบวงจรที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย มูลค่าลงทุนรวม 720 ล้านหยวน หรือ 3,600 ล้านบาท มีเกษตรกรจีนได้รับประโยชน์ 1,900 ครอบครัว หรือ 6,000 คน และไข่ไก่รุ่นแรกจะผลิตได้ ในเดือนตุลาคม 2555 จะมีกำลังผลิตสูงสุด 2 ล้านฟองต่อวัน ใช้คนงานประมาณ 200 คน คาดรายได้จะอยู่ที่ 700 ล้านหยวน ต้นทุนต่อปีประมาณ 500-600 ล้านบาท โดยโครงการนี้ “เกษตรกรเป็นเถ้าแก่ บริษัทเป็นลูกจ้าง”
“โครงการผิงกู่เป็นการผลิตไข่ไก่ เน้นความปลอดภัย รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ ราคาจำหน่ายก็จะสูงมาก ซึ่งจะจำหน่ายแก่ผู้มีรายได้สูง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 10 ของประชากรจีน ที่มี 1,300 ล้านคน และโครงการนี้เกษตรกรก็ได้ประโยชน์ โดยในขณะนี้มีอีก 10 มณฑล ได้ติดต่อกลุ่มซีพีทำโครงการเช่นนี้ นับเป็นการสร้าง แบรนด์ซีพี ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีและเกษตรปลอดภัย”
นายสารสินกล่าวว่า กลุ่มตะวันออกกลางหลายประเทศสนใจให้ซีพีเข้าไปลงทุนด้านการเกษตรครบวงจร ซึ่งซีพีให้ความสนใจเพราะเป็นตลาดที่มีอำนาจซื้อสูง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มั่นใจด้านการลงทุนซึ่งทั้งรัฐบาลตะวันออกกลางและของไทยน่าจะเข้าให้การช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า หากลงทุนแล้วจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ต่อซีพีเช่นกัน
นอกจากนี้ นายสารสินยังกล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยว่า เชื่อว่ารัฐบาลจะป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนในพื้นที่การเกษตรก็คงจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปีนี้ ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญช่วยเหลือ ชดเชย รวมทั้งในอนาคตควรจะหาทางป้องกันพื้นที่ภาคการเกษตรด้วย
นอกจากนี้ ควรจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานให้เหมาะสมเพราะประเทศไทยเป็นประเทศการเกษตร หากรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรอาจทำให้เกิดความเสียหาย และอนาคต 10-20 ปี ประเทศไทยอาจประสบวิกฤตทางด้านอาหารเช่นเดียวกับประเทศจีนได้