กทท.ยังไม่ฟื้น ปริมาณตู้สินค้าท่าเรือกรุงเทพหายไปกว่าแสนตู้ ผลจากน้ำท่วมปี 54 คาดทั้งปีรายได้ลดกว่า 800 ล. เร่งดึงสายเรือกลับหวังปี 56 กลับสู่ภาวะปกติ
เรือตรี วิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพในรอบ 9 เดือนหรือสิ้นสุดไตรมาส 3 ปี 2555 (ต.ค. 54-มิ.ย. 55) ลดลงกว่า 1 แสนทีอียู หรือประมาณ 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ที่ทำให้นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานต่างๆ หยุดการผลิต และผู้นำเข้าส่งออกไปใช้ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และท่าเรือเอกชนแทน คาดว่าปริมาณตู้สินค้าของท่าเรือกรุงเทพในปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านทีอียูลดลง 10-12% เมื่อเทียบจากปีก่อนที่มี 1.3 ล้านทีอียู และทำให้รายได้ทั้งปีของ กทท.ลดลงกว่า 800 ล้านบาท มีกำไรสุทธิประมาณ 2,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไร 2,700-2,800 ล้านบาท
โดยปัญหาน้ำท่วมทำให้สายเดินเรือใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น จีน เกาหลี เช่น มิตซุย, K Line, NYK ย้ายไปใช้ท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงท่าเรือเอกชน และถึงขณะนี้ยังย้ายกลับมาไม่หมด 100% ซึ่งตั้งเป้าว่าจะต้องดึงให้กลับมาทั้งหมดภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อสถานการณ์ในปี 2556 กลับสู่ภาวะปกติ โดยจะต้องสร้างแรงจูงใจต่างๆ โดยเฉพาะคุณภาพในการให้บริการ ความตรงเวลา และความปลอดภัย เพราะก่อนจะถึงท่าเรือกรุงเทพจากอ่าวไทยมีท่าเรือเอกชน 5-6 ท่าที่เป็นคู่แข่ง
“ไตรมาสแรกปริมาณสินค้าติดลบประมาณ 34% แม้ว่าจะเริ่มดีขึ้นแต่ยังไม่เท่าเดิมโดยสินค้า 1 ตู้จะมีรายได้ประมาณ 5,000 บาท ส่วนท่าเรือแหลมฉบังนั้นในไตรมาส 3 เติบโต 8% แต่ กทท.ได้เพียงค่าสัมปทานจากเอกชนเท่านั้น ในขณะที่ภาพรวมการนำเข้าและส่งออกของประเทศลดลงตาม GDP ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยุโรป ดังนั้น แนวทางเร่งด่วนคือต้องหารายได้เพิ่มจากกิจกรรมอื่น เช่น การให้เช่าพื้นที่ของท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มี และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น” เรือตรี วิโรจน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2556 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นไปการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยจะมีปริมาณการขนส่งสินค้าตลอดทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านทีอียู และมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปี 2554 โดยปริมาณการขนส่งและรายได้จะยังอยู่ในระดับดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 3 ปี นับจากปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นไป