xs
xsm
sm
md
lg

“คิง” ทุ่ม 1.5 พัน ล.รับเออีซี ชี้เวียดนามทะลวงตลาดไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คิง น้ำมันรำข้าว อัด 1,500 ล้านบาทผุดโรงงานแห่งที่ 3 ขยายกำลังผลิต 5 แสนตัน รองรับขยายตลาดในและต่างประเทศ จ่อลุยเออีซี “เวียดนาม-พม่า-ลาว” รุกแตกไลน์สินค้าสร้างมูลค่าเพิ่ม ประเดิมปั้นครีมเทียมไขมันน้ำมันรำข้าว ยันปีนี้น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง รำข้าวไม่ขึ้นราคา สิ้นปีโต 7-8% กวาด 6,000 ล้านบาท

นายประวิทย์ สันติวัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท น้ำมันบริโภคไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันรำข้าวคิง เปิดเผยว่า แผนดำเนินธุรกิจ 5 ปีนี้ หรือตั้งแต่ปี 2553-2558 บริษัททุ่มงบ 1,500 ล้านบาทสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ขึ้นที่ จ.นครราชสีมาเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 40% หรือ 2 แสนตันต่อปี ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 5 แสนตันต่อปี รองรับการเติบโตของบริษัทหลังจากตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หรือระหว่างปี 2550-2554 บริษัทเติบโต 25% ซึ่งบริษัทวางแผนขยายตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม พม่า ลาว เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และสอดรับกับการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาด

รวมทั้งรองรับการเติบโตภายในประเทศ จากกระแสคนไทยที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้นหันมาใช้น้ำมันรำข้าวเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรม นอกจากนี้บริษัทยังหันมาแตกไลน์สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 รายการ ทั้งนี้คาดว่าโรงงานแล้วเสร็จปลายปี 2556 ล่าสุดปีนี้บริษัทได้เปิดตัวไขมันน้ำมันรำข้าว (Shortening) โดยขณะนี้ได้เริ่มทำตลาดในกลุ่มเบเกอรี และกลางปีหน้าเปิดตัวครีมเทียมน้ำมันรำข้าว ส่วนกลุ่มน้ำมันพืชปีนี้ช่วงไตรมาส 4 บริษัทได้เปิดตัวน้ำมันรำข้าวภายใต้แบรนด์ “ไรซ์ลี่” โอรีซานอล 8,000 พีพีเอ็ม ขนาด 1 ลิตร 150 บาท

สภาพตลาดน้ำมันพืชบรรจุขวดมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดเติบโตสูงเนื่องจากน้ำมันปาล์มและถั่วเหลืองปรับราคาขึ้น ส่งผลให้มูลค่าเพิ่มขึ้นแต่ในแง่ของปริมาณไม่ได้มีการเติบโตมากนัก โดยแบ่งเป็นเซกเมนต์น้ำมันปาล์มสัดส่วน 65% ถั่วเหลือง 25% และน้ำมันรำข้าว 6-7% ที่เหลือ 13-14% เป็นอื่นๆ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน ส่วนด้านราคาวัตถุดิบการผลิตน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ปีนี้ไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปีนี้ไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน ขณะที่น้ำมันรำข้าวต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น แต่บริษัทไม่มีแผนปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

“ผลจากการเปิดเศรษฐกิจอาเซียนไม่ได้มีผลต่อตลาดน้ำมันบรรจุขวดในประเทศไทยมากนัก เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มรายใหญ่ในตลาดก็เป็นกลุ่มผู้ประกอบการจากประเทศมาเลเซีย แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียผลิตปาล์มได้มากกว่ามาเลเซีย และยังไม่มีผู้ประกอบการในอินโดนีเซียเข้ามาทำตลาดน้ำมันปาล์มในไทย”

นายสุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแข่งขันหลังจากเปิดเออีซีในตลาดน้ำมันรำข้าว ประเทศเวียดนามจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการมาเลเซียเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพื่อผลิตน้ำมันรำข้าวออกมาทำตลาด อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต บริษัทได้ทุ่มงบ 20 ล้านบาทในการทำตลาด พร้อมกับการเปิดตัวแคมเปญ “อาหารรักคุณ” เพื่อสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่ง

สำหรับผลประกอบการของบริษัทปีนี้คาดการณ์ที่ 6,000 ล้านบาท โต 7-8% แบ่งเป็นรายได้จากน้ำมันรำข้าวเพื่อการบริโภค 2,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้มาจากการส่งออก 50% และภายในประเทศ 50% โดยปัจจุบันคิงเป็นผู้นำตลาดน้ำมันรำข้าว ครองส่วนแบ่ง 60-70% ส่วนรายได้ที่เหลือมาจากน้ำมันรำข้าวดิบและอาหารสัตว์ 2,000 ล้านบาท และรำสกัดน้ำมัน 2,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น