กลุ่มอาหารอ้อนรัฐลดต้นทุนการผลิต พร้อมหาตลาดใหม่ชดเชยตลาดเดิมที่ยอดวูบ ไก่ขอให้ลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง กุ้งขอช่วยดันส่งออกไปตลาดรัสเซียและตะวันออกกลาง ผักและผลไม้ขอช่วยระบายผลผลิตช่วงออกมาก ส่วนอาหารทะเลขอเร่งเจรจาเปิดตลาด
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและผลักดันการส่งออกรายสินค้า (สินค้าอาหาร) ว่า กลุ่มสินค้าอาหารได้ขอให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือในด้านการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้มีขีดความสามารถในการส่งออกได้เพิ่มขึ้น และแข่งขันได้ดีขึ้น รวมทั้งขอให้ช่วยหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพิ่มเติม หลังจากที่การส่งออกไปยังตลาดหลักหลายตลาดได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และบางตลาดมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ได้เสนอให้มีการยกเว้นภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็นการชั่วคราว หลังจากภาวะอากาศร้อนในสหรัฐฯ ได้ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองมีราคาสูงขึ้น ส่วนในระยะยาวขอให้มีการศึกษาวิจัยพันธุ์พืชให้มีผลผลิตสูงขึ้น ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นแหล่งวัตถุดิบ และเร่งผลักดันการส่งออกไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
สินค้ากุ้งแช่แข็งและแปรรูป ขอให้เร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น รัสเซียและตะวันออกกลาง ขอให้รัฐบาลอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวได้ตามความจำเป็นและอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้โดยไม่กำหนดช่วงเวลาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่วนการแก้ปัญหาถูกสหภาพยุโรป (อียู) ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ขอให้เร่งเจรจา FTA ไทย-อียูโดยเร็วเพื่อนำสินค้ากุ้งไปลดภาษีภายใต้ FTA และขอให้เจรจากับสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหากรณีที่สหรัฐฯ โยงเรื่องการส่งออกกุ้งที่จับได้จากแหล่งธรรมชาติกับกุ้งเลี้ยง
สินค้าผักและผลไม้ ขอให้ภาครัฐจัดหาตลาดใหม่ ซึ่งกรมฯ มีแผนดำเนินการอยู่แล้วเพื่อขยายตลาดในช่วงที่มีผลผลิตปริมาณมาก ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยใช้แรงงานต่างด้าวโดยสามารถขึ้นทะเบียนโดยไม่กำหนดระยะเวลา ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน
สินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผู้ส่งออกปลาทูน่าขอให้ช่วยเจรจากับกรมประมงเพื่อประสานไปยังอียูเพื่อออกใบรับรองให้แก่ไทย ปลาแมคเคอเรล ขอให้มีการเจรจาลดภาษีจาก 5% เหลือ 0% และปูม้า ขอให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนการเปิดเสรีการค้าในสินค้าสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก เพื่อทดแทนการขาดแคลนวัตถุดิบภายในประเทศ
“ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงแนวทางการผลักดันการส่งออกทั้งหมดนี้ กรมฯ จะนำเสนอให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณา หากสามารถดำเนินการได้ทันทีในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็จะเร่งดำเนินการเลย แต่หากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ก็จะเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการต่อไป ส่วนวันที่ 8 ส.ค.นี้จะเป็นการหารือร่วมกับกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ” นางนันทวัลย์กล่าว
สำหรับสถานการณ์การส่งออก 6 เดือนของปี 2555 (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกอาหารมีมูลค่า 8,779 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.8% ประกอบด้วยสินค้าสำคัญ 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ส่งออกมูลค่า 2,429 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% กุ้งแช่แข็งและแปรรูป 1,329 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป 1,079 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 17% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป 1,522 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4% และอาหารอื่นๆ เช่น สิ่งปรุงรส เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ข้าว เป็นต้น มูลค่า 2,419 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 20%
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและผลักดันการส่งออกรายสินค้า (สินค้าอาหาร) ว่า กลุ่มสินค้าอาหารได้ขอให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือในด้านการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้มีขีดความสามารถในการส่งออกได้เพิ่มขึ้น และแข่งขันได้ดีขึ้น รวมทั้งขอให้ช่วยหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพิ่มเติม หลังจากที่การส่งออกไปยังตลาดหลักหลายตลาดได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และบางตลาดมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ได้เสนอให้มีการยกเว้นภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็นการชั่วคราว หลังจากภาวะอากาศร้อนในสหรัฐฯ ได้ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองมีราคาสูงขึ้น ส่วนในระยะยาวขอให้มีการศึกษาวิจัยพันธุ์พืชให้มีผลผลิตสูงขึ้น ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นแหล่งวัตถุดิบ และเร่งผลักดันการส่งออกไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
สินค้ากุ้งแช่แข็งและแปรรูป ขอให้เร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น รัสเซียและตะวันออกกลาง ขอให้รัฐบาลอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวได้ตามความจำเป็นและอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้โดยไม่กำหนดช่วงเวลาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่วนการแก้ปัญหาถูกสหภาพยุโรป (อียู) ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ขอให้เร่งเจรจา FTA ไทย-อียูโดยเร็วเพื่อนำสินค้ากุ้งไปลดภาษีภายใต้ FTA และขอให้เจรจากับสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหากรณีที่สหรัฐฯ โยงเรื่องการส่งออกกุ้งที่จับได้จากแหล่งธรรมชาติกับกุ้งเลี้ยง
สินค้าผักและผลไม้ ขอให้ภาครัฐจัดหาตลาดใหม่ ซึ่งกรมฯ มีแผนดำเนินการอยู่แล้วเพื่อขยายตลาดในช่วงที่มีผลผลิตปริมาณมาก ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยใช้แรงงานต่างด้าวโดยสามารถขึ้นทะเบียนโดยไม่กำหนดระยะเวลา ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน
สินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผู้ส่งออกปลาทูน่าขอให้ช่วยเจรจากับกรมประมงเพื่อประสานไปยังอียูเพื่อออกใบรับรองให้แก่ไทย ปลาแมคเคอเรล ขอให้มีการเจรจาลดภาษีจาก 5% เหลือ 0% และปูม้า ขอให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนการเปิดเสรีการค้าในสินค้าสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก เพื่อทดแทนการขาดแคลนวัตถุดิบภายในประเทศ
“ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงแนวทางการผลักดันการส่งออกทั้งหมดนี้ กรมฯ จะนำเสนอให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณา หากสามารถดำเนินการได้ทันทีในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็จะเร่งดำเนินการเลย แต่หากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ก็จะเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการต่อไป ส่วนวันที่ 8 ส.ค.นี้จะเป็นการหารือร่วมกับกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ” นางนันทวัลย์กล่าว
สำหรับสถานการณ์การส่งออก 6 เดือนของปี 2555 (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกอาหารมีมูลค่า 8,779 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.8% ประกอบด้วยสินค้าสำคัญ 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ส่งออกมูลค่า 2,429 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% กุ้งแช่แข็งและแปรรูป 1,329 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป 1,079 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 17% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป 1,522 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4% และอาหารอื่นๆ เช่น สิ่งปรุงรส เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ข้าว เป็นต้น มูลค่า 2,419 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 20%