xs
xsm
sm
md
lg

สนพ.เปิดโครงการเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนพ.เชิญชวนผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมปี 2555 ตั้งเป้าเพิ่ม 114 แห่ง ผลิตก๊าซชีวภาพ 190 ลบ.ม./ปี หวังดันให้ได้ตามเป้าหมาย 338 แห่ง


นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ สนพ.ได้ดำเนิน “โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม” เพื่อส่งเสริมให้มีการนำน้ำเสีย หรือของเสียเหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงพืชพลังงานมาแปรรูปเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในรูปความร้อนและไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินงานในช่วงปี 2551-2555 ได้ตั้งเป้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้าร่วม 338 แห่ง โดยคาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 637 ล้าน ลบ.ม./ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,950 ล้านบาท/ปี

สำหรับปี 2555 นี้ สนพ.จะมีการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุนการจัดทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสียโรงงานอุตสาหกรรม รวม 6 รอบ โดยเปิดรับข้อเสนอรอบที่ 1-4 ไปแล้วเมื่อเดือน มี.ค.-ก.ค. 55 ที่ผ่านมา และจะเปิดรับข้อเสนออีกครั้งในเดือน ส.ค.55 ตั้งเป้าผู้ขอรับการสนับสนุนในปีนี้รวม 114 ราย ในวงเงินสนับสนุน 1,060 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้สนใจจะต้องเป็นผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม และ/หรือบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company : ESCO) ที่เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ของเสีย หรือพืชพลังงาน และระบบการนำก๊าซชีวภาพไปใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานทดแทน ผู้ประกอบการโรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.eppo.go.th และ www.thaibiogas.com

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมามีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ แล้วทั้งสิ้น 130 ราย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมแป้ง 37 ราย ปาล์มน้ำมัน 39 ราย เอทานอล 20 ราย น้ำยางข้น 6 ราย อุตสาหกรรมอาหาร 24 ราย และอื่นๆ 4 ราย คิดเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานรวมกว่า 1,268 ล้านบาท ทำให้ประเทศสามารถผลิตพลังงานทดแทนในรูปของก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 652 ล้าน ลบ.ม./ปี ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้ทดแทนพลังงานเชิงพาณิชย์รวมเป็นมูลค่า 3,502 ล้านบาท/ปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 6 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องจากภาคเอกชนเป็นเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 12,807 ล้านบาท

อนึ่ง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้มีการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการส่งเสริมการผลิตและใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพในประเทศไทยให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคปศุสัตว์ และภาคชุมชน เพื่อนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้เป็นพลังงานทดแทนในรูปความร้อน และไฟฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น