กลุ่มการพิมพ์ฯ ส.อ.ท.ปลื้มยอดขายพ็อกเกตบุ๊กพุ่งบ่งชี้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วกว่าเท่าตัว แนะรัฐเร่งส่งเสริมคนไทยรักการอ่านรับมือ AEC ขณะที่การแจกแท็บเล็ตติงไม่ควรให้ ป.1 เหตุยังเด็กเกินไป
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน และประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกปีนี้สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ฯ ส่งออกติดลบ 20-30% จากปีก่อนเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตสหภาพยุโรปแต่ตลาดในประเทศกลับขยายตัว และพบว่ามีการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นโดยดูจากยอดขายพ็อกเกตบุ๊กที่ยังคงขยายตัวระดับ 4-5% จึงนับเป็นสัญญาณที่ดีเนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วเฉลี่ยจะอ่านหนังสือคนละ 10-12 เล่มต่อปี ในขณะที่คนไทยอ่านเพียง 3-4 เล่มต่อปีเท่านั้น
“ดิจิตอลมีเดียที่เข้ามาแทรกตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ภาพรวมยังไม่กระทบสิ่งพิมพ์ในประเทศมากนักในระยะสั้นนี้ เช่นเดียวกับโครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 นั้นจะกระทบเพียงแค่ตำราเสริมหรือแบบฝึกหัดแต่ตำราหลักไม่กระทบ อย่างไรก็ตาม ระยะยาวคงต้องติดตามว่ารัฐจะแจกเพิ่มหรือเป็นนโยบายระยะยาวมากน้อยเพียงใดด้วย” นายเกรียงไกรกล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กลุ่มฯ มองคือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 ที่ตลาด 600 ล้านคนเมื่อผสมกับตลาดในประเทศที่ยังเติบโตเชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมนี้ของไทยมีโอกาสขยายตัวได้มากเพราะผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ฯ ไทยมีศักยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายวิชัย สกุลวรารุ่งเรือง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้องการให้รัฐและทุกภาคส่วนได้ร่วมกันสร้างกระแสให้คนไทยมีการอ่านหนังสือกันมากขึ้น และชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอ่านซึ่งจะเป็นการสร้างฐานหรือองค์ความรู้ให้คนไทย ซึ่งโครงการแจกแท็บเล็ตของรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งที่ดีแต่ควรจะแจกเด็กตั้งแต่ ป.6หรือ ม.1 ขึ้นไปมากกว่าเด็ก ป.1 เพราะช่วงอายุนี้น่าจะเรียนรู้การใช้มือในการขีดเขียนและสร้างเสริมจินตนาการซึ่งหนังสือจะเป็นคำตอบที่ดีสุด
“ผมไม่ได้มองว่าแท็บเล็ตไม่ดีนะ แต่ควรแจกเด็กที่โตขึ้นมาสักหน่อย เข้าใจว่าต้องการเร่งให้เด็กฉลาดแต่ก็ต้องคิดถึงต้นไม้จะเติบโตมีผลได้ที่สุดก็ต้องใช้เวลาและต้องดูแลให้ดีด้วย ซึ่งถ้าเราจะแข่งขันกับคนอื่นความรู้ของคนสำคัญมาก เวลานี้คนไทยอ่านหนังสือต่ำมากดูแค่หนังสือพิมพ์ทั้งประเทศยอดพิมพ์รวมประมาณ 3 ล้านเล่มนะอย่างเก่ง ขณะที่คนไทยมีกว่า 60 ล้านคน และเอาเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาวก็ราว 20 ล้านคนก็ยังเห็นว่าต่ำอยู่ดี” นายวิชัยกล่าว
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ฯ ไทยหากมองเฉพาะตลาดในไทยและอาเซียนที่จะเข้าสู่ AEC คิดว่าจะยังเติบโตได้อีกมาก เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวเชื่อว่าการอ่านจะทยอยเพิ่มขึ้น และมองว่าดิจิตอลมีเดียเป็นเพียงแค่สื่อเสริมเพราะถึงอย่างไรสิ่งพิมพ์ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่