xs
xsm
sm
md
lg

เปิดต้นทุน สนพ.ต้านเก็บค่าฟีดีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด (มหาชน)
‘ไพลินบุ๊คเน็ต’ แนะรัฐหนุนมาตรการภาษีเพิ่มช่องทางขาย กระตุ้นการอ่านส่งต้นทุนการพิมพ์ลดลง เชื่อแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าได้ 

นายฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายพ็อกเกตบุ๊ก เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพรวมต้นทุนของอุตสาหกรรมหนังสือปรับตัวสูงขึ้นทั้งระบบ ตั้งแต่สำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และร้านหนังสือ เนื่องจากแต่ละชื่อเรื่องมียอดพิมพ์เฉลี่ยเพียง 3,000 เล่ม และมียอดขายแค่ 1,500 เล่ม ขายได้น้อย ทำให้ต้นทุนโดยรวมสูงมาก

หากพิจารณาจากโครงสร้างต้นทุนในอุตสาหกรรมหนังสือ จะพบว่าสำนักพิมพ์มีต้นทุนค่าลิขสิทธิ์นักเขียนเฉลี่ย 10% จากยอดพิมพ์ โดยมีค่าใช้จ่ายด้านการพิมพ์ 20% (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านบริหาร) และเสียค่าจัดจำหน่ายอีก 40% จากยอดขาย ซึ่งสำนักพิมพ์ต้องขายให้ได้ 1,800 เล่มจึงจะเท่าทุน

โดยในส่วนของผู้จัดจำหน่ายนั้นยังมีต้นทุนด้านการดำเนินการขนส่งและบริหารจัดการ รวมถึงส่วนลดการขายให้ร้านหนังสือ 30% จากยอดขายด้วย ซึ่งเมื่อหักต้นทุนดำเนินการแล้วจะมีกำไรเหลือเพียง 4-5% เท่านั้น ขณะที่ร้านหนังสือเองก็มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แม้จะเป็นร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่มีเชนสโตร์มากมาย ก็เหลือกำไรเพียง 4-5 % เช่นกัน 

ดังนั้น การเรียกเก็บค่ากระจายสินค้า 1% จากยอดส่ง (หรือประมาณ 2% จากยอดขาย เพราะหนังสือขายได้เฉลี่ย 50% จากยอดส่ง) ที่ในตอนนี้ก็ยังมีการต่อรองและหาทางแก้ไขร่วมกันนั้น มองว่าหากฝ่ายใดเป็นผู้แบกรับภาระนี้ไปก็จะทำให้มีกำไรสุทธิหายไปอีก 2% นั่นเอง 
 
ดังนั้น ภาครัฐต้องส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการซื้อและใช้มาตรการด้านภาษีเข้ามาช่วย เช่น ลดภาษีซื้อให้เหลือ 0% ทางสำนักพิมพ์ก็สามารถพิมพ์หนังสือจำนวนมากๆ ต้นทุนพิมพ์ต่อหน่วยก็ลดลง ตัวนักเขียนหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ก็มีรายได้เพิ่ม ผู้จัดจำหน่ายและร้านหนังสือก็มีเปอร์เซ็นต์จากการขายเพิ่มขึ้น จะทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมหนังสือทั้งระบบกลับมาแข็งแกร่งได้ 

นายฉัตรเฉลิมกล่าวต่อว่า ไม่ว่าการปรับค่าธรรมเนียมกระจายสินค้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อสำนักพิมพ์ไพลินบุ๊คเน็ต เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้สร้างขีดความสามารถในการรองรับการแข่งขันอุตสาหกรรมหนังสือมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์การบริหารซัปพลายเชนเพื่อลดต้นทุนการพิมพ์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางหรือผู้อ่าน โดยการตั้งจุดจำหน่ายในรูปแบบของบูทหนังสือที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้อ่าน ทำให้สำนักพิมพ์สามารถมอบส่วนลดราคาขายได้ถึง 70% เพื่อกระตุ้นการขายหนังสือเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทขายหนังสือได้เป็นจำนวนมากปีละกว่า 10 ล้านเล่ม โดยสามารถยืนหยัดอยู่ในธุรกิจหนังสือในภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น