กนอ.แจงแผนฟื้นฟูโรงงาน บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด หลังเกิดเหตุเพลิงใหม้ สั่งคุมเข้มเพิ่มระบบความปลอดภัยของกระบวนการจัดเก็บ และกำจัดสารตกค้าง ย้ำไม่เกิดปัญหาซ้ำซาก คาดกลับมาเดินเครื่องผลิตได้เร็วๆนี้
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในแผนการเข้าไปฟื้นฟู บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด (BSTE) ซึ่งอยู่ในเครือของบริษัท กรุงเทพซินธิติก จำกัด (BST) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ยางรถยนต์ ยางชิ้นส่วนยานยนต์ พื้นรองเท้าพลาสติกและอุปกรณ์กีฬาซึ่งเกิดเหตุเพลิงใหม้ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยพบว่าขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยอย่างเข้มข้นของทุกขั้นตอนการผลิตที่ต้องมั่นใจได้ว่าจะไม่มีสารตกค้างและ การรั่วไหลของสารอันตรายที่เกิดขึ้นซ้ำซากอีก เพื่อก่อให้เกิดความมั่นใจต่อชุมชนและประชาชนในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กนอ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าตรวจสอบขั้นตอนการฟื้นฟูโรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีแผนงานที่จะเข้าดำเนินการฟื้นฟูในแต่ละหน่วยผลิตอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่ทำการไล่สารไฮโดรคาร์บอนที่ตกค้างในระบบไปเผาที่หอเผา (Flare) พร้อมตรวจสอบซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องจักรแล้วเสร็จในช่วง เดือนกรกฏาคม 2555 ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ภายในเดือนตุลาคม 2555
ในส่วนของโครงสร้างรองรับท่อภายในโรงงานบางส่วนที่ได้รับความเสียหาย ปัจจุบันได้ทำการซ่อมแซม และเสริมความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ส่วนหน่วยผลิตยางสังเคราะห์ SBR ได้ทำการเคลื่อนย้ายน้ำยาง LATEX คงค้างใน REACTOR ประมาณ 400 ตันไปจัดเก็บในถังเก็บภายในโรงงานเพื่อทำการส่งกำจัดต่อไป ส่วนที่เหลือย้ายไปอยู่ในถังเก็บที่มีความปลอดภัยสูง และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ขณะเดียวกันในด้านการทำระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงาน สามารถฟื้นฟูให้ใช้งานได้เป็นปกติแล้ว
“กนอ.ได้จัดทำแผนการตรวจสอบโรงงานที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีอยู่ประมาณ 90 แห่ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันจะดำเนินอย่างเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่ละเลยการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย” นายวีรพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนในพื้นที่รอบนิคมฯมาบตาพุด กนอ.ได้ร่วมกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ยังคงจัดรถลาดตระเวน Patrol) เพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และ เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบในพื้นที่นิคมฯมาบตาพุด และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นประจำทุกวัน และมีการรายงานผลไปยังศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) เพื่อทำการประมวลผลต่อไป