xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯบี้บางจาก ทำพื้นที่กันชน ยันอากาศปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-อุตฯ เตรียมร่อนหนังสือถึง "บางจาก” ขอให้ทำแนวพื้นที่กันชนระหว่างโรงงานกับชุมชนเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่น พร้อมงัดกฏหมายใหม่คุมเข้มอีกชั้น หวังควบคุมโรงงานที่เสี่ยงกระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อมสูง 2,600 แห่ง เผยย้ายโรงกลั่นออกพื้นที่เป็นไปได้ยาก เหตุลงทุนสูง ด้าน สธ. ยันไม่มีสารอันตราย ประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติ

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 วันนี้ จะทำหนังสือถึงบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้บางจากพิจารณาแนวทางการจัดพื้นที่กันชนระหว่างโรงงานกับชุมชนเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่ายังมีพื้นที่จำนวนหนึ่งที่จะสามารถดำเนินการได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อชุมชนในระยะยาวหลังจากเกิดปัญหาไฟไหม้ขึ้น พร้อมกันนี้ จะมีความเข้มงวดในเรื่องของแผนฉุกเฉินและประเมินความเสี่ยงที่จะต้องปรับให้เข้มงวดขึ้นจากเดิมด้วย

“ขณะนี้ ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงว่าไฟไหม้เกิดจากอะไร ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นอุปกรณ์รั่ว คงจะต้องใช้เวลาพิสูจน์ และเปิดโอกาสให้ซ่อม ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้สั่งให้ปิดดำเนินการ 30 วันแล้ว แต่กระทรวงฯ ไม่มีกฏหมายที่จะไปสั่งย้ายโรงกลั่นได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ หากชุมชนไม่ต้องการ ในที่สุดก็จะถูกกดดัน บางจากเองต้องทำให้ชุมชนรอบด้านเชื่อมั่นด้วย”นายวิฑูรย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อการดูแลและเข้มงวดโรงงานที่เสี่ยงต่อผลกระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อม กรอ.กำลังร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง กำหนดให้โรงงานต้องจัดทำรายงานประเมินความเสี่ยงซึ่งกำลังเสนอให้ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เห็นชอบ เพื่อประกาศบังคับในเร็วๆ นี้

โดยแผนดังกล่าวจะเข้มงวดมากขึ้นจากเดิม 2 ด้าน ประกอบด้วย 1.กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่ควบคุมได้จะรับมืออย่างไร จะต้องระบุให้ชัดเจนขึ้น โดยจะต้องระบุแผนที่ครอบคลุมในการดูแลความปลอดภัยของบุคคลที่อยู่นอกโรงงาน เช่น ผู้รับเหมา จากเดิมที่แผนจะกำหนดเฉพาะการดูแลคนในพื้นที่โรงงานเท่านั้น 2.การจัดทำจะต้องนำแผนชุมชนมาเชื่อมต่อกันกับแผนของโรงงานจากเดิมที่แผนจะแยกกันปฏิบัติ

นอกจากนี้ แผนใหม่ยังกำหนดให้จะต้องรายงานแผนปฏิบัติการจากเดิม กรอ. จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจ ซึ่งบางครั้งเจ้าหน้าที่มีไม่พอ ทำให้ตรวจไม่ครบ พร้อมกันนี้ จะต้องกำหนดผู้คนรับผิดชอบแผนเป็นการโดยเฉพาะขึ้น โดยจะกำหนดให้รายงานแผนปฏิบัติการปีละ 1 ครั้ง ซึ่งกฏหมายดังกล่าวจะครอบคลุมโรงงานที่เสี่ยงต่อผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมประมาณ 2,600
โรงงานและในจำนวนนี้มี 900 โรงงานที่เป็นโรงงานด้านโรงกลั่น ปิโตรเคมี และวัตถุอันตรายที่จะมีการเข้มงวดมากเป็นกรณีพิเศษ

“แผนนี้จะกำหนดให้มีแผนฉุกเฉินที่เข้มงวด เช่น จากที่เคยซ้อมแผนความปลอดภัยปีละ 1 ครั้ง ก็เป็นปีละ 2 ครั้ง ส่วนโรงงาน 900 แห่งที่เป็นโรงกลั่น ปิโตรเคมี วัตถุอันตรายเราจะเข้มงวดเรื่องการรายงานแผนปฏิบัติที่ให้รายงานปีละครั้ง แต่ที่เหลือก็อาจจะลดหลั่นกันไปเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อเอกชน”นายวิฑูรย์กล่าว

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา บางจากได้ส่งทีมผู้บริหารและพนักงานรวม100 คน ลงไปสำรวจพื้นที่บริเวณชุมนุมชนรอบพื้นที่โรงกลั่น โดยพบว่า มีบ้านเรือนที่พักอาศัยของประชาชนในพื้นที่ได้รับความเสียหาย50 หลังคาเรือน ประกอบด้วยประตูรั้วพังเป็นบางส่วน กระจกหน้าต่างแตก หลังคาบ้านที่มุงด้วยกระเบื้องแตก

ทั้งนี้ บางจากได้ส่งทีมช่างที่จัดจ้างมาจากบริษัทรับซ่อมแซมบ้านและพนักงานจากหน่วยซ่อมบำรุงรวม10 ชุด เข้าไปทำการซ่อมแซมให้ทั้งหมด โดยจะเร่งซ่อมในส่วนของบ้านเรือนของประชาชนที่หลังคาบ้านได้รับความเสียหายให้แล้วเสร็จภายในวานนี้ (5ก.ค. ) ส่วนกรณีของรั้วบ้านและกระจกหน้าต่างแตก จะได้รับการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ (6 ก.ค.)

“การจัดทีมงานลงพื้นที่ในครั้งนี้ ปรากฏว่าประชาชนที่บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหาย ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใดทั้งสิ้น และยืนยันว่าเข้าใจกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นว่าไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น”นายอนุสรณ์กล่าว

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และอดีตผู้บริหารบมจ.บางจาก กล่าวว่า การย้ายโรงกลั่นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะไม่ควรอยู่ในเมืองก็ตาม เพราะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท และตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีโรงกลั่นใดเกิดขึ้นใหม่ได้ในโลกนี้ เพราะความเสี่ยงสูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จากราคาน้ำมันผันผวน ทำให้ค่าการกลั่นไม่แน่นอน ขณะที่การบำรุงรักษาก็ใช้เงินสูงเช่นกัน

นอกจากนี้ การย้ายไปจะต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ในไทยมีจำกัด ประกอบกับจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะชุมชน ซึ่งไม่ง่าย เพราะที่ผ่านมา มีเอกชนสนใจจะตั้งโรงกลั่นขนาดไม่ใหญ่นักที่ จ.เพชรบุรี ทั้งที่ระบบคลังสำรองทุกอย่างพร้อม มีที่ดินแล้ว แต่ประชาชนไม่ยอมรับ ที่สุดก็เกิดไม่ได้ และที่ผ่านมา บางจากเองได้ลงทุนไปค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้น การหาทางป้องกันปัญที่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า

“ญี่ปุ่นเองหรือหลายประเทศก็มีโรงกลั่นอยู่ใกล้กับชุมชน และโรงกลั่นในไทยก็มีมาตรฐานระดับสากล ผมคิดว่าการย้ายไปตั้งที่ใหม่ไม่น่าจะเป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหาในขณะนี้”นายมนูญกล่าว

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค และกรุงเทพมหานคร ที่เข้าไปสำรวจคุณภาพอากาศ ที่บริเวณโรงกลั่นบางจาก พบว่า สารอันตรายทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ไม่มีสารใดเกินค่ามาตรฐาน หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น ประชาชนสามารถกลับเข้าไปในพื้นที่ได้ตามปกติ โดยหลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะส่งทีมแพทย์เข้าไปตรวจโรคและให้การช่วยเหลือประชาชนพื้นที่โดยรอบอีกครั้ง

วันเดียวกันนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพระโขนง ได้ร่วมประชุมกับคณะกรรมการ 5 ชุมชน ใกล้โรงกลั่นบางจาก ได้แก่ 1.ชุมชนหน้าวัดบุญรอดธรรมาราม 2.ชุมชนหลังวัดบุญรอดธรรมาราม 3.ชุมชนหน้าโรงเรียนบางจาก 4.ชุมชนเล็กเที่ยง และ5.ชุมชนข้างโรงกลั่น ที่มีกว่า 100 ครอบครัว ตัวแทนกองบังคับการตำรวจนครบาล สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด มหาชน เพื่อหารือในการทำแผนอพยพกรณีเกิดเหตุ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งจัดทำแผนอพยพให้มีความชัดเจนและครอบคลุม ตลอดจนขอให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน

ด้านนายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกทม. กล่าวว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. ประจำจุดตามชุมชนต่างๆ ในบริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุ เพื่อเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมพร้อมทั้งมอบให้สำนักอนามัย ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจคุณภาพอากาศในพื้นที่และจัดทีมไปตามชุมชนเพื่อตรวจสุขภาพประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น