ASTVผู้จัดการรายวัน - ไม่ใช่แค่ลือ “ไทยเบฟเวอเรจ” ยอมรับยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้น “เอฟแอนด์เอ็น” และ “เอพีบี” เจ้าของเบียร์ไทเกอร์จริง “ฐาปน” บินด่วนเข้าเจรจาดีลใหญ่มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาทแล้ว แต่ด้าน “ไฮเนเก้น” คงไม่ยอมปล่อยแหล่งทอง คาดยื่นเสนอราคาสู้ ล่าสุด “ไทยเบฟฯ” ปรับยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ครั้งใหญ่ ชูแผน 5 ปีอัด 2,500 ล้านบาท ผุดศูนย์กระจายสินค้า 4 แห่ง ลดคลังสินค้าย่อย เดินเกมต่อยอดใช้ระบบขนส่งทางเรือ อากาศ รถไฟ ลดต้นทุน 10% รับการเปิดเออีซี
จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่า กลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ และสิ่งพิมพ์ของสิงคโปร์ จากธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีสแบงกิ้งคอร์ปอเรชัน (โอซีบีซี) และเกรทอีสต์เทิร์นโฮลดิ้งส์ บริษัทประกันในเครือ รวมทั้งเสนอซื้อหุ้น 7.9% ในเอเชียแปซิฟิกบริวเวอรี่ (เอพีบี) ที่อยู่ในครอบครองของโอซีบีซี และเกรทอีสต์เทิร์นโฮลดิ้งส์นั้น
วานนี้ (18 ก.ค.) นางชาลอต โทณวณิก ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผู้บริหารของบริษัทที่สิงคโปร์ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงตามที่เป็นข่าว โดยบริษัทได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวไปยังตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ ถึงข่าวการเข้าไปเจรจาซื้อหุ้นในเอฟแอนด์เอ็น ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ และสิ่งพิมพ์ของสิงคโปร์ จากธนาคารโอซีบีซี และเกรทอีสต์เทิร์น โฮลดิ้งส์ บริษัทที่ทำธุรกิจประกัน พร้อมทั้งสนใจเข้าไปซื้อหุ้นในเอพีบี จากกลุ่มโอซีบีซี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอฟแอนด์เอ็น และไฮเนเก้น เพื่อผลิตเบียร์ยี่ห้อ ไทเกอร์เบียร์ เช่นเดียวกัน
โดยการเข้าไปซื้อหุ้นในครั้งนี้จากโอซีบีซีแบ่งเป็น การเข้าไปซื้อหุ้นในเอฟแอนด์เอ็น สัดส่วน 18.2% และเข้าไปซื้อหุ้นในเอพีบี สัดส่วน 7.9% คิดเป็นเม็ดเงินรวมประมาณ 1,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ ได้เดินทางด่วนไปที่ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมาเพื่อเจรจาในเรื่องดังกล่าวด้วย จากเดิมที่มีกำหนดการจะมาร่วมการเปิดคลังสินค้าที่ จ.นครราชสีมาวานนี้ (18 ก.ค.)
ทั้งนี้ หากการเจรจาขอซื้อหุ้นดังกล่าวของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจประสบความสำเร็จ จะส่งผลให้บริษัทกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของเอฟแอนด์เอ็น รองลงมาคือ คิริน โฮลดิ้งส์ ผู้ผลิตเบียร์ญี่ปุ่น และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับไฮเนเก้น ซึ่งมีหุ้น 42% ในเอพีบี ขณะที่ เอฟแอนด์เอ็นถือหุ้น 40% เช่นกัน
จากข้อมูลพบว่า เอฟแอนด์เอ็นเป็นเจ้าของเบียร์แบรนด์ดัง คือ เบียร์ไทเกอร์ และบริษัทลงทุนรายใหญ่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจอื่นๆ เชื่อมโยงอีกหลายธุรกิจ ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่ออย่าง เฟรเซอร์ เซ็นเตอร์พอยต์ และไทมส์ พับลิชชิ่ง โดยปี 2554 เอฟแอนด์เอ็นมีสินทรัพย์สุทธิกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 350,000 ล้านบาท มีพนักงานกว่า 17,000 คนใน 20 ประเทศ ขณะที่เอพีบีมีโรงกลั่นเบียร์ 30 แห่งใน 12 ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก และจำหน่ายเบียร์กว่า 120 ยี่ห้อ
อย่างไรก็ตาม บริษัทไฮเนเก้น ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลกได้ประกาศเตือนว่า ไฮเนเก้นจะดำเนินการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของทางบริษัทในตลาดเอเชีย หลังจาก บมจ.ไทยเบฟเวอเรจเสนอซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นของสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นหุ้นส่วนของไฮเนเก้นในภูมิภาคนี้ โดยบริษัทกำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ และจะดำเนินการใดๆก็ตามที่เหมาะสมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท ทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นที่เชื่อว่ายังไม่มีบทสรุปที่ลงตัว แม้ไทยเบฟเวอเรจ จะมีศักยภาพมากพอในการระดมทุนซื้อหุ้นล็อตใหญ่ในครั้งนี้
***ไทยเบฟยกเครื่องลอจิสติกส์
นายวันชัย ศารทูลทัต ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าในเครือบริษัทไทยเบฟฯ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ปรับยุทธศาสตร์ระบบศูนย์กระจายสินค้าครั้งใหญ่ โดยวางแผนในระยะ 5 ปี (ปี 2551-2556) ปรับจากการที่มีระบบเอเยนต์หรือการมีคลังสินค้า 80 แห่งให้เหลือลดลง พร้อมกับการผุดศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ ด้วยการทุ่มงบลงทุน 2,500 ล้านบาทสร้างศูนย์กระจายสินค้า 4 แห่ง
ในเบื้องต้น 3 ปีที่ผ่านมาได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าแล้ว 3 แห่งภายใต้งบ 1,400 ล้านบาท ได้แก่ ที่จังหวัดนครราชสีมา บนพื้นที่ 400 ไร่ พื้นที่คลังสินค้า 1 หมื่น ตร.ม. เพื่อรองรับการกระจายสินค้าภาคอีสาน จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 66ไร่ พื้นที่คลังสินค้า 7,800 ตร.ม. รองรับการขนส่งในภูมิภาคตะวันออก และศูนย์กระจายสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี รองรับการกระจายสินค้าในภาคใต้
ส่วนงบอีก 1,100 ล้านบาทจะผุดศูนย์กระจายสินค้าที่ภาคเหนือ 1-2 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จากปัจจุบันในส่วนของภาคเหนือได้มีคลังสินค้าอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร และยังได้ซื้อรถหกล้อ และยี่สิบสองล้อ 90 คัน จากเดิมมีรถทั้งหมด 1,800 คัน รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ
ขณะเดียวกัน บริษัทยังให้ความสำคัญต่อระบบการกระจายสินค้าประเภทอื่นๆ ได้แก่ การขนส่งทางเรือ ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกับเสริมสุข มีระบบขนส่งทางเรือที่แข็งแกร่ง ระบบขนส่งทางรถไฟ โดยได้จับมือกับการรถไฟฯ ขณะนี้ได้ทดลองขนส่งไปภาคเหนือ อีสาน และใต้ และคาดว่าจะร่วมมือขนส่งเป็นตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น และในอนาคตบริษัทยังมองถึงการผุดศูนย์กระจายสินค้าในตลาดต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปิดเขตเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน หรือเออีซี
ทั้งนี้ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก เป็นผู้กระจายสินค้าในเครือ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเบียร์ กลุ่มสุรา และกลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ สัดส่วน 80% และอีก 20% ได้เตรียมจัดตั้งเป็นสำนักธุรกิจขนส่งต่อเนื่อง เช่น สินค้าน้ำตาล อ้อย ปุ๋ย ฯลฯ โดยมีมูลค่าร่วมแสนล้านบาท โดยการปรับระบบอลจิสติกส์ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนได้ 10% ลดการใช้พลังงานและลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนจากเส้นทางการกระจายสินค้า โดยคำนึงให้สอดคล้องกับฝ่ายขาย ขณะเดียวกันส่งผลให้การกระจายสินค้ามีความรวดเร็วมากขึ้น จาก 3 วันต่อครั้ง เป็นเหลือ 1 วันต่อครั้ง อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทเสริมสุข ซึ่งจะมีผลในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้อาจจะต้องมีการจัดสรรระบบกระจายสินค้าใหม่อีกครั้ง
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ไทยเบฟ โลจิสติก มุ่งเป็นผู้นำกระจายสินค้ากลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2557 บริษัทจะดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ พร้อมทั้งพัฒนาศูนย์ขนส่งประจำเฉพาะโรงงานเหล้าขาว และพัฒนาให้มีศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค พัฒนาศูนย์ขนส่งและศูนย์กระจายสินค้าให้มีมาตรฐานในทุกภูมิภาคเพื่อรองรับในปี 2558 วางแผนส่งออกสินค้าทั้งกลุ่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ไปในอาเซียน
ทั้งนี้ ในแต่ละปีบริษัทมีต้นทุนการบริหารจัดการค่าลอจิสติกส์ 2,500-2,600 ล้านบาท หรือในเชิงปริมาณ 1,600-1,700 ล้านลิตร และหลังจากที่บริษัทปรับระบบการกระจายสินค้าใหม่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง 10% หรือ 250 ล้านบาท และในอนาคตบริษัทหวังให้ไทยเบฟฯ โลจิสติกเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่สร้างรายได้ด้วยตัวเอง เพื่อผลักดันการผุดศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ จากปัจจุบันบริษัทเน้นการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ