xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติจับตารัฐบริหารนโยบายน้ำ อาคเนย์ชี้ต่ออายุประกันตามความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาคเนย์ประกันภัย ยันพันธมิตรต่างประเทศพร้อมรับประกันต่อ แต่ต้องปรับเบี้ยขึ้นตามความเสี่ยงของพื้นที่ ระบุนโยบายการบริหารจัดการของภาครัฐมีส่วนกับการตัดสินใจของต่างชาติด้วย ด้านคปภ.เล็งจัดกรมธรรม์ประกันมหันตภัยรูปแบบใหม่ ช่วยครัวเรือน-SME เข้าถึงประกันภัยง่ายขึ้น

นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร อาคเนย์ กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน เปิดเผยว่า ผลกระทบหลังจากปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้จะคงเป็นเรื่องการรับประกันภัยต่อไปยังต่างประเทศ เนื่องจากยังไม่สามารถคิดค่าเบี้ยภัยธรรมชาติให้กับลูกค้ารายใหม่ในสัญญาปี 2555 ได้ โดยบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศยังรอความชัดเจนจากแผนบริหารจัดการเพื่อป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลอยู่ว่าจะมีความชัดเจนออกมาได้เมื่อใด เพราะมองว่าปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นนอกจากภัยจากธรรมชาติแล้วยังมีเรื่องการบริหารจัดการของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรของบริษัทอาคเนย์ฯ ทั้ง 10 ราย ยึดยันชัดเจนว่า ยังคงเป็นพันธมิตรและพร้อมรับประกันภัยต่อจากอาคเนย์ แต่คงจะต้องมีการปรับค่าเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ตามพื้นความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ที่ประสบภัย และลูกค้าต้องมีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าเก่าที่ต่อสัญญาประกันภัยในปีนี้อาคเนย์ก็ยังทำการต่อสัญญาให้ เพียงแต่ได้มีการปรับเบี้ยขึ้น

ส่วนตัวเลขความเสียหายล่าสุดบริษัทคาดว่าจะจ่ายสินไหมให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่ถูกน้ำท่วม อย่างบริษัทโออิชิ บริษัทผลิตปุ๋ย และบริษัทผลิตสังกะสี ซึ่งอยู่ในกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ คาดว่าต้องจ่ายสินไหมประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ลูกค้ารายย่อยในส่วนที่ทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 มีประมาณ 500 คัน แต่เสียหายทั้งคันประมาณ 200 คัน

“ แต่เราคาดค่าสินไหมจากน้ำท่วมทั้งหมดคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพราะยังมีในส่วนของงานรับประกันภัยต่อที่มาจากบริษัทอื่นที่บริษัทรับไว้เองอีก ซึ่งทางคู่ค้ายังแจ้งค่าสินไหมเข้ามายังอาคเนย์ไม่หมด อย่างไรก็ตาม ค่าสินไหมที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินอย่างแน่นอน เพราะงานส่วนใหญ่อาคเนย์ได้ส่งต่อไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศและซื้อความเสียหายส่วนเกินไว้อีก ทำให้ค่าสินไหมที่อาคเนย์ที่จ่ายเองจริงๆ ก็คงไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นในส่วนของประกันภัยรถยนต์ชั้น 1” นายโชติพัฒน์ กล่าว

นายโชติพัฒน์ กล่าวอีกว่า ต่อไปนี้สัญญาประกันภัยธรรมชาติคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยเฉพาะประกันภัยทรัพย์สินที่คุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิต(ไอเออาร์) จากเดิมที่มีสัญญาเดียว ก็ต้องมีการแยกเป็นสัญญาอัคคีภัย และสัญญาภัยธรรมชาติออกจากกัน ทำให้กรมธรรม์ประกันภัยไอเออาร์จะไม่มีอีก ซึ่งรวมถึงที่อยู่อาศัยรายย่อยด้วยที่ต้องมีการแยกสัญญาคิดเบี้ยออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งกรมธรรม์อัคคีภัยนั้นเบี้ยคงไม่ขึ้น แต่เบี้ยจะขึ้นในส่วนของกรมธรรม์ภัยธรรมชาติเท่านั้น

“ตอนนี้ในหลักการ อาคเนย์ให้ลูกค้าเดิมที่หมดสัญญาในปีนี้ต่ออายุได้ เพราะเรายังคุ้มครองตามสัญญาเดิมได้อยู่ แต่หลังจาก 1 ม.ค.ปีหน้าแล้ว ยังทำอะไรไม่ได้ ซึ่งในส่วนของลูกค้าที่ถูกน้ำท่วมนั้น อาคเนย์ก็ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วยการเจรจากับประกันภัยต่อให้จ่ายสินไหมพิเศษ ให้กับโรงงานที่ได้ลงทุนป้องกันตัวเองให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด จากเดิมที่หากไม่ทำอะไรเลยอาจเสียหายทั้งหมดก็ได้ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ลูกค้ารู้จักป้องกันตัวเองทำให้บริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมน้อยลง ก็ควรได้รับค่าป้องกันภัยด้วย ซี่งในส่วนขอค่าเสียหายจากธุรกิจหยุดชะงักอาคเนย์ก็ได้เริ่มทะยอยจ่ายไปก่อนหรือหาแหล่งวัตถุดิบให้โรงงานของลูกค้าทำการผลิตต่อไปได้แล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม”นายโชติพัฒน์ กล่าว

คปภ.เล็งกรมธรรม์น้ำท่วมใหม่

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยแก่ผู้ประสบอุทกภัย เช่น ระยะเวลาการจ่ายค่าสินไหมทดแทน การต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเร่งฟื้นฟูความเสียหายของภาคอุตสาหกรรม บ้านที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจประกันภัย ดังนี้

ส่วนการกระชับกระบวนการชำระค่าสินไหมทดแทน ด้วยการเพิ่มบุคลากรผู้ประเมินความเสียหาย และกำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ผู้เอาประกันภัยภาคครัวเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และภาคอุตสาหกรรมให้ได้ร้อยละ 75 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ภายใน 6 เดือน รวมถึงมีการแจกคู่มือประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ในส่วนของการรับประกันภัยอุทกภัยในประเทศ และรับประกันภัยต่อในต่างประเทศสำนักงาน คปภ. ได้ติดตามภาวการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างการเร่งศึกษาการจัดตั้งรูปแบบการประกันมหันตภัยในรูปแบบต่างๆ โดยอาจมีภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้สาธารณชนในภาคครัวเรือนและผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) สามารถเข้าถึงความคุ้มครองอุทกภัยได้อย่างทั่วถึงในอัตราเบี้ยประกันต่ำ การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น