xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลวงชนบทลุยศึกษาผุดสะพานข้ามเจ้าพระยาแห่งใหม่เชื่อมสมุทรปราการ-สมุทรสาคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมทางหลวงชนบทเริ่มศึกษาความเหมาะสมก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมฝั่งสมุทรปราการ-สมุทรสาคร รองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นด้านทิศใต้ของกรุงเทพฯ ยันการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่สำคัญเปิดรับฟังความเห็นประชาชน หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องตามแนวเส้นทางตั้งแต่เริ่มโครงการ

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเชื่อมต่อบริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ-จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อนำมาช่วยแก้ไขปัญหาจราจรรองรับการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานในอนาคต ซึ่งการศึกษาจะช่วยกำหนดแนวทางเลือกและตำแหน่งที่เหมาะสมของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาฯ รวมถึงศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น กำหนดมาตรการป้องกัน ลดผลกระทบ
ต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

โดยก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาฯ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากพบว่าปัจจุบันประชาชนที่อาศัยและทำงานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกำลังประสบปัญหาทางด้านการจราจร เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งหนึ่งในบริเวณพื้นที่ที่ประสบปัญหาการจราจรอย่างมากคือ ด้านทิศใต้ของกรุงเทพมหานครบริเวณจังหวัดสมุทรปราการ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การศึกษาความเหมาะสมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเชื่อมต่อบริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ-จังหวัดสมุทรสาครนั้น ศึกษาครอบคลุมขอบเขตพื้นที่ 3 จังหวัด 1 เขต 3 อำเภอ 1 แขวง 17 ตำบล ดังนี้ กรุงเทพมหานคร 1 เขต (เขตบางขุนเทียน) 1 แขวง (แขวงท่าข้าม) จังหวัดสมุทรปราการ 2 อำเภอ (อ.เมืองสมุทรปราการ, อ.พระสมุทรเจดีย์) 9 ตำบล (ต.เทพารักษ์, ต.แพรกษาใหม่, ต.แพรกษา, ต.ท้ายบ้านใหม่, ต.ท้ายบ้าน, ต.ในคลองบางปลากด, ต.แหลมฟ้าผ่า, ต.บ้านคลองสวน, ต.นาเกลือ) จังหวัดสมุทรสาคร 1 อำเภอ (อ.เมืองสมุทรสาคร) 8 ตำบล (ต.พันท้ายนรสิงห์, ต.โคกขาม, ต.บางหญ้าแพรก, ต.โกรกกราก, ต.ท่าฉลอม, ต.มหาชัย, ต.บางกระเจ้า, ต.ท่าจีน)

อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงชนบทได้ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องตามแนวเส้นทางตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดการศึกษาโครงการ ซึ่งมีการให้ข้อมูลข่าวสารและรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ได้ทราบถึงความเป็นมาและความจำเป็นของการดำเนินโครงการ ประโยชน์ที่ได้รับ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น