เวที พตส.จัดอภิปรายแก้ รธน.-ปฏิรูปการเมืองไทย “สามารถ” โทษรัฐประหารถึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ หยิบคำวินิจฉัยปี 48 ข้องใจศาล รธน.เปลี่ยนมาตรฐานตัดสินหรือไม่ กล่อมเลือก ส.ส.ร.การเมืองครอบงำไม่ได้ “อลงกรณ์” โต้กลับแก้ รธน.ตอบโจทย์ใคร ซัดสเปก ส.ส.ร.เปิดช่องการเมืองครอบงำชัด วอนรอศาลวินิจฉัย ชะลอร่างปรองดอง ให้ทักษิณทำตัวเยี่ยงองคุลีมาล และออกแบบประเทศใหม่พ้นการเมืองเดิมๆ
วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการอบรมหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 3 ของสำนักงาน กกต.ได้มีการบรรยายในหัวข้อ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมืองไทย” โดย นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เกิดขึ้นเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีข้อครหากันมากว่าเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก มีการตั้งองค์กรอิสระตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รัฐบาลเองก็มีเสถียรภาพ มีจุดดีมากมาย แต่สุดท้ายก็ถูกล้มโดยคณะรัฐประหาร
ทั้งนี้ ในประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก จนถูกยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างที่ได้ทราบกัน แต่เหตุผลในการแก้มาตรา 291 ก็เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งฉบับ จึงต้องมีการแก้เพื่อให้เกิดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด และเมื่อยกร่างเสร็จก็ต้องมีการลงประชามติ ถ้าประชาชนยอมรับก็ประกาศใช้ นี้คือแนวทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้
ส่วนที่มีการมองว่า สภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเราใช้หมวด 15 ของรัฐธรรมนูญเพื่อแก้รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนประชาชน ที่มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าว่าการแก้ไขจะขัดกับมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เราก็มีหน้าที่ไปชี้แจง แต่อยากจะบอกว่า มาตรา 68 นี้ ก็คือ มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นเอง มาตรานี้ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2548 ว่า การยื่นร้องตามมาตรานี้ตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนมาตรฐานไปแล้ว
“การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ไม่มีทางที่พรรคการเมืองจะไปครอบงำได้ เพราะประชาชนเขารู้ว่าต้องการ ส.ส.ร.แบบไหน และคงไม่มีพรรคการเมืองไหนยอมทุ่มเพื่อซื้อตัว ส.ส.ร. เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญทุกมาตรามีการเฝ้าดูจากประชาชน ถ้าไม่ถูกต้องประชาชนก็ไม่ยอม และไม่ลงประชามติให้ อีกทั้งในมาตรา 291 ฉบับแก้ไขก็ระบุชัดเจนว่าการไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.จะต้องไม่เป็นไปในแนวทางเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง และต้องไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ จึงไม่อยากให้มีการระแวงสงสัยกันมากจนเกินไป” นายสามารถ กล่าว
นายสามารถ ยังกล่าวว่า พ.ร.บ.ปรองดองฯ ว่าทางกรรมาธิการฯ ได้ให้สถาบันพระปกเกล้าศึกษาทำวิจัยแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเสนอมายังกรรมาธิการ และก็รายงานต่อรัฐสภา ซึ่งก็มี ส.ส.ส่วนหนึ่งบอกว่าการจะพ้นความขัดแย้งได้ก็ต้องให้อภัยกัน จึงออกเป็นกฎหมายปรองดองออกมา เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองได้รับการยกเว้นโทษ เพราะเชื่อว่าการกระทำผิดอาญา ทั้งการยึดสนามบิน หรือการเผาศาลากลางจังหวัดมีเหตุมากจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งสิ้น แหากไม่มีการให้อภัยกันไม่หันหน้ามาปรองดองกัน จะปรับตัวเพื่อเข้าสู่สถานการณ์โลกได้อย่างไร แต่ก็ยังมีคนไม่เห็นด้วยอยู่ ก็เลยมีแนวคิดว่าให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.ปรองดองมาสักหนึ่งฉบับแล้วมาหาแนวทางร่วมกันก็จะเป็นทางออก
ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องดูด้วยว่าหากจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการตอบโจทย์ใคร ล่าสุด มีกลุ่มบุคคลใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงทำให้กำหนดการที่จะมีการพิจารณาลงมติวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมาต้องชะลอไปก่อน เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งมายังรัฐสภาให้รอการดำเนินการในวาระ 3 ออกไปจนกว่าศาลฯจะมีคำวินิจฉัย แต่กลับมีกระแสข่าวว่า วันที่ 18 มิ.ย.อาจจะมีการพิจารณาลงมติในวาระ 3 ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ทาง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมายืนยันว่าจะไม่มีการพิจารณาลงมติวาระ 3 ในวันดังกล่าวแน่นอน ทั้งนี้ ตนมองว่า เรื่องนี้ไม่รู้ว่าสุดท้ายผลจะออกหัวออกก้อยอย่างไร เพราะก็ยังมีปัญหาที่ไม่ลงรอยกันอยู่
สำหรับประเด็นที่ห่วงว่าอาจจะเป็นปมให้เกิดปัญหา ก็คือ ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่กำหนดไว้ 2 ประเภท คือ มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และผู้เชี่ยวชาญอีก 22 คน รวมจำนวน 99 คน ซึ่งพูดกันมากว่า ถ้าโครงสร้างออกมาเช่นนี้ มันง่ายที่จะถูกครอบงำ เพราะเวลาเลือกตั้ง ส.ส.ร.ก็เชื่อว่า ต้องมีเครือข่ายจากพรรคการเมืองที่จะดันคนของพรรคตนเองเข้ามาแน่ ส่วนอีก 22 คน ที่ทางรัฐสภาเป็นผู้คัดเลือกก็เกรงว่าจะมีการล็อคสเป็ค เพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายบรรหาร ศิลปอาชา ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ได้โทรศัพท์ไปเคลียร์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเคลียร์เรื่องจำนวน ส.ส.8 เสียง ที่หายไป ในการโหวตเกี่ยวกับขอให้พิจารณาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
“กรณีนี้จึงเป็นที่ยืนยันว่าเป็นการเดินเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใต้อิทธิพลของผู้ที่อยู่นอกราชอาณาจักร เพราะการที่อดีตนายกรัฐมนตรีมาแสดงบทบาทในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องส่วนรวม ซึ่งน่ากังวลว่าการเลือก ส.ส.ร. อาจถูกครอบงำ จากฝ่ายการเมืองได้ และ ยังมองว่า เมื่อกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์จะเป็นเครื่องมือและเป็นกุญแจไปเพื่อประโยชน์ของผู้ใด เพราะก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 1 ก็มีภาคประชาชนเสนอร่างฯจากภาคประชาชนเข้ามา แต่ปรากฏว่ารัฐบาลไม่ได้รอกลับรีบดำเนินการ แม้จะมีการอ้างว่าในการพิจารณาวาระ 2 ใช้ระยะเวลาในการพิจารณา 15 วัน 15 คืน ก็ตาม โดยที่ผ่านมาทางกรรมาธิการเสียงข้างน้อยก็พยายามที่จะใช้ทุกวิธีการถ่วงดุลด้วยเหตุผลเพื่อให้ฝ่ายเสียงข้างมากได้เปลี่ยนใจและแก้ไข แต่กลับเหนื่อยเปล่าเพราะสุดท้ายก็ไม่ได้มีการแก้ไขอะไรเลยทั้งสิ้น” นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเกิดจากความเห็นพ้องต้องกัน เพราะการจะทำอะไรสำเร็จได้ต้องมีความเห็นพ้องต้องกัน ที่ผ่านมาไม่มีการแบ่งฝ่าย แบ่งสี หวาดระแวงเหมือนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เลย แต่ขณะนี้เรากำลังลืมสิ่งนั้นพยายามเดินไปในเส้นทางที่คิดว่ามีสิทธิที่จะทำ จนลืมนึกไปว่าบ้านเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร 1 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองบอบช้ำจากเหตุการณ์อุทกภัย แต่ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ได้มีการทะเลาะเบาะแว้งกันแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงเห็นว่า ข้อเสนอที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ 1.ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย5 คำร้องเกี่ยวกับร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.รัฐบาลต้องชะลอการเดินหน้าพระราชบัญญัติปรองดอง 3.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องทำตัวเยี่ยงองคุลีมาลและพันท้ายนรสิงห์ 4.ต้องเดินหน้าปฏิรูปการเมืองอย่างเปิดกว้าง และ 5.ปฏิรูปประเทศด้วยการออกแบบประเทศใหม่ ทั้งหมดนี้ ถ้าทุกคนช่วยกันเราก็จะก้าวพ้นอดีตที่หมกมุ่นและจมอยู่กับการเมืองแบบเดิมๆ และจะทำได้ประเทศก้าวพ้นความขัดแย้งและเดินหน้าไปสู่สันติสุข