ก.พลังงานเผยความคืบหน้าติดตั้งเอ็นจีวีในแท็กซี่ 4,800 คันได้แล้ว 1,051 คัน คาดภายในสิ้นสิงหาคมนี้จะครบหมด เผยแท็กซี่ที่เข้าร่วมต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 1.5 หมื่นคัน ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ จ่ายค่าติดตั้ง 1,200 ล้านบาททำให้ประหยัดเงินเหลือแค่ 272 ล้านบาท
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนแอลพีจีเป็นเอ็นจีวีในรถแท็กซี่ของกระทรวงพลังงานที่เปิดให้แท็กซี่เข้ามาร่วมโครงการติดตั้งฟรีจำนวน 4,800 ราย ล่าสุดมีการติดตั้งแล้ว 1,051 คัน ซึ่งคาดว่าภายในไม่เกินสิงหาคม 2555 จะติดตั้งได้ครบจำนวนทั้งหมด ซึ่งผลดังกล่าวทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะเข้ามาอุดหนุนการดำเนินงานติดตั้งให้คันละ 5,000 บาท เดิมวางเป้าหมายจะใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ 1,200 ล้านบาทจากจำนวนรถแท็กซี่ 15,000 คันจะเหลือเพียงประมาณ 272 ล้านบาทเท่านั้น
“กระทรวงพลังงานได้ปิดรับสมัครให้แท็กซี่เข้ามาร่วมโครงการตั้งแต่ 30 เม.ย.แล้ว ก็ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 15,000 คัน เพราะส่วนหนึ่งแท็กซี่ได้ไปติดตั้งเองและบางคันก็หมดอายุลงไป ซึ่งการติดตั้งดำเนินการไปด้วยดี เมื่อ บ.ส.ศิริแสงที่ชนะการประมูลได้เริ่มทยอยนำเข้าถังเอ็นจีวีมาแล้ว 2,800 ชุดคิดว่าก็จะติดครบประมาณสิ้นเดือน ส.ค.นี้ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะไม่มีเฟส 2 อีกแน่นอน” นายคุรุจิตกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มุ่งที่จะส่งเสริมการใช้เอ็นจีวีในรถแท็กซี่เพื่อลดการนำเข้าแอลพีจี ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนกลไกตลาดซึ่งราคาแอลพีจีและเอ็นจีวียังคงอุดหนุนอยู่ ดังนั้นที่สุดต้องทยอยลดการอุดหนุนลงเพราะเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 จะทำให้ไทยมีภาระในการแบกรับการอุดหนุนให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่ง AEC มีสมาชิกถึง 600 ล้านคน อย่างไรก็ตามกระทรวงฯ ได้จ้างสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเอเชียศึกษาศึกษาจุดเด่นจุดด้อยของพลังงานไทยเพื่อเตรียมพร้อมรับ AEC โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้
นายคุรุจิตกล่าวว่า ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย.จะมีการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กระทรวงพลังงานคงจะเสนอแนวทางการเชื่อมโยงด้านพลังงานในระดับภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงอุปสรรคการลงทุนกิจการพลังงานที่ควรเปิดกว้าง เช่น การเปิดประมูลผลิตไฟฟ้าในส่วนของภาคเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี ที่ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่เปิดกว้าง เป็นต้น ซึ่งเห็นว่าหากเพื่อนบ้านเปิดมากขึ้นก็จะทำให้ บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีศักยภาพที่จะไปลงทุนอย่างมาก
“ไทยมีจุดเด่นในเรื่องพลังงานทดแทน เรื่องมาตรฐานการอนุรักษ์พลังงาน การเป็นตลาดใหญ่ของการใช้ปิโตรเลียม และเป็นฐานการผลิตปิโตรเคมี รวมทั้งมีการส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เช่น ไอพีพี เอสพีพี ซึ่งก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำต่อสมาชิก” นายคุรุจิตกล่าว