xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อครึ่งปีพุ่ง 2.95% “พาณิชย์” มั่นใจทั้งปีคุมได้ตามเป้า 3.3-3.8%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เงินเฟ้อครึ่งปี 55 สูงขึ้น 2.95% “ยรรยง” มั่นใจทั้งปีอยู่ในเป้า 3.3-3.8% อาจทำได้ 3.5% ด้วยซ้ำ เหตุราคาสินค้าเริ่มทรงตัวและลดลง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขยับขึ้นเล็กน้อย

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มิ.ย. เท่ากับ 115.42 สูงขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 2.56% เทียบกับเดือน มิ.ย.ปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนของปี 2555 (ม.ค.-มิ.ย.) สูงขึ้น 2.95% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน มิ.ย. สูงขึ้น 2.56% มาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 4.72% เช่น ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูป ส่วนดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.17% จากการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง

สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อ 6 เดือนเฉลี่ยสูงขึ้น 2.95% มาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 6.03% สินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เป็ด ไก่ สัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป ส่วนดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.03% จากสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง

“คิดว่าเงินเฟ้อจากนี้ไปไม่น่าเป็นห่วงเหมือนที่ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนห่วง เพราะขณะนี้สินค้ากลุ่มอาหารสดเริ่มปรับตัวลดลงตามฤดูกาล สินค้าอื่นๆ ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามมาตรการขอความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มราคาน้ำมันก็ลดลง ทำให้เงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในกรอบ 3.3-3.8% แน่นอน และที่น่าเป็นไปได้มากที่สุดคือ 3.5%” นายยรรยงกล่าว

ทั้งนี้ เงินเฟ้อพื้นฐานของประเทศเดือน มิ.ย. ที่หักกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกสูงขึ้น 0.15% เทียบกับเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาสูงขึ้น 1.92% เทียบกับเดือน มิ.ย.ปีก่อน และเฉลี่ย 6 เดือนสูงขึ้น 2.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายยรรยงกล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเดือน มิ.ย. 2555 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมเท่ากับ 27.6 สูงขึ้นจากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 27.4 ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันเท่ากับ 20.9 เพิ่มขึ้นจาก 18.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตเท่ากับ 32.1 ลดลงจาก 33.4 และดัชนีความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) เท่ากับ 46.3 ลดลงจาก 51.2

ปัจจัยบวกที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายมาตรการลดค่าครองชีพ ขยายเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลออกไปอีก 1 เดือน และขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก 50 ล้านบาท รวมทั้งยังได้รับผลดีจากโครงการโชวห่วยช่วยชาติที่ช่วยลดค่าครองชีพ และการแข่งขันฟุตบอลยูโร ที่ทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นต้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน การผ่อนปรนมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงาน และความวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น