“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน ม.ค.ปรับเพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลง หลังราคาสินค้าจำเป็นในการครองชีพปรับลง และกำลังซื้อหดตัว ยันการปรับขึ้นเงินเดือน ขรก.หมื่นห้า กระทบเงินเฟ้อน้อย แต่ห่วงราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2555 โดยพบว่า อยู่ที่ระดับ 113.21 สูงขึ้นร้อยละ 3.38 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัวลงตามการฟื้นตัวของประเทศที่อยู่ในช่วงเยียวยาหลังภาวะน้ำท่วม
ทั้งนี้ ราคาสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนหลายชนิดชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งยังเป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดราคาอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 7.70 โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 2.34 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 10.52 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 2.30
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.39 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาในตลาดโลก และการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามนโยบายรัฐบาล โดยดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 6.48 และจากการสูงขึ้นของค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ตามต้นทุนการผลิต
นอกจากนี้ วัสดุก่อสร้าง สินค้าที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดบ้าน และของใช้ส่วนบุคคลราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ ราคาอาหารสดประเภท เนื้อสุกร ไก่สด ผักผลไม้ ไข่ไก่ ปลา และสัตว์น้ำบางชนิดมีราคาลดลง แม้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่ราคาอาหารสด มีราคาสูงขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
โดยในปี 2555 กระทรวงพาณิชย์ยังคงตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3-3.8 ภายใต้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ 95-115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ย 29-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งรัฐบาลคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปี 2555 จะมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการเมืองทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและตะวันออกกลาง ที่จะมีผลต่อราคาน้ำมัน รวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ส่วนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาทต่อเดือน รัฐบาลจะใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพียง 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบเงินเฟ้อ เพียงร้อยละ 0.01-0.02 ขณะที่การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทจะกระทบเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.1
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ในเดือนมกราคม 2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.75 และหากเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (ธันวาคม 2554) สูงขึ้นร้อยละ 0.26