ชาวไร่แห่ยื่นกู้เงินซื้อรถตัดอ้อยพุ่ง 3,000 ล้านบาทหลังแรงงานหายากแถมค่าจ้างขยับสูง ผสมกับปริมาณอ้อยที่ทุบสถิติสูงสุดที่ 97.97 ล้านตันแนวโน้มยังเพิ่มได้อีก ขณะที่กองทุนอ้อยฯ มีวงเงินสนับสนุนเหลือเพียง 593 ล้านบาท เตรียมนัดถก 7 มิถุนายนนี้ อาจดึงเงินสินเชื่อภัยแล้งปรับมาใช้แทน
นายบัญชา คันธชมภู รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาล (กท.) เปิดเผยว่า วันที่ 7 มิถุนายน 2555 กองทุนฯ จะนัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อยจากเดิมที่กำหนดวงเงินสนับสนุนไว้ 1,000 ล้านบาท เนื่องจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายและ 3 องค์กรชาวไร่อ้อยได้ทำหนังสือมายังกองทุนฯ เพื่อให้พิจารณาจัดสรรวงเงินเพิ่มขึ้นให้เพียงพอความต้องการ
“จากปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูกาลผลิตปี 54/55 ที่ล่าสุดปิดหีบแล้วมีอ้อยสูงถึง 97.97 ล้านตันและการปลูกอ้อยที่คาดว่าจะเพิ่มอีก ประกอบกับค่าแรงงานที่ขาดแคลนและมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่จะมีผลทั่วประเทศปี 2556 ทำให้ชาวไร่อ้อยหันมายื่นขอรับสนับสนุนจำนวนมาก โดยวงเงินสูงถึง 3,000 ล้านบาท” นายบัญชากล่าว
ทั้งนี้ เบื้องต้นกองทุนฯ ได้จัดสรรวงเงินสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรถตัดอ้อยไว้ 1,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ผ่อนชำระเป็นเวลา 6 ปี โดยขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อจะให้โรงงานน้ำตาลที่ชาวไร่อ้อยส่งอ้อยป้อนโรงงานเป็นผู้ออกเช็คเงินแล้วให้ชาวไร่นำมาขายลดผ่านกองทุนอ้อยฯ ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้ดำเนินการตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2553/54 แต่เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.เองก็มีโครงการลักษณะเช่นเดียวกัน วงเงินที่ปล่อยออกไปจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 55 ส่วนนี้จึงมีเพียง 406 ล้านบาท ทำให้เหลือวงเงิน 593 ล้านบาท
ขณะเดียวกันกองทุนฯ ยังได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งวงเงิน 2,000 ล้านบาทควบคู่ในขณะนั้น แต่วงเงินดังกล่าวจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 55 ปล่อยไปได้เพียง 129 ล้านบาทเท่านั้นจึงเหลือวงเงินสำหรับการสนับสนุนอีกราว 1,800 ล้านบาท ดังนั้นเบื้องต้นอาจจะนำเงินส่วนนี้มาเป็นการปล่อยสนับสนุนการซื้อรถตัดอ้อยแทน โดยจะได้หารือถึงความเป็นไปได้อีกครั้ง
“ยอมรับว่าวันนี้ชาวไร่อ้อยแห่มาขอสินเชื่อรถตัดอ้อยจากกองทุนฯ มาก เพราะส่วนหนึ่งโครงการของ ธ.ก.ส.ได้สิ้นสุดไป และสำคัญคือแรงงานหายากมากและแพงขึ้นทำให้รถตัดอ้อยจะเป็นแนวทางการลดต้นทุนได้ในระยะยาว” นายบัญชากล่าว