ผู้ประกอบการท่องเที่ยวโรงแรมบักโกรก ธุรกิจขาดสภาพคล่อง วิ่งหาแหล่งเงินกู้หลังคลังปฏิเสธตั้งกองทุนฯ เล็งเจรจาแบงก์อิสลาม นายกทีเอชเอเผยปัญหาธุรกิจขณะนี้ขาดแคลนทั้งเงินและแรงงาน ต้นเหตุใหญ่มาจากตลาดโอเวอร์ซัปพลาย ด้านประธาน สทท.เตรียมอ้อนรัฐขยายเวลาพักชำระหนี้ หลังเจอพิษค่าแรงงาน และหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2
เท่า
นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ผลของการเข้าพบนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้จัดตั้งกองทุนกู้ยืมให้แก่ผู้ประกอบการโรงแรม จะได้นำเงินมาเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ ได้รับคำตอบว่า กระทรวงการคลังไม่สามารถดำเนินการให้ได้ แต่ได้รับคำแนะนำให้ไปติดต่อธนาคารอิสลาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดกับธนาคาร คาดว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเสนอขอเงินกู้ดอกเบี้ยและเงื่อนไขพิเศษ
ทั้งนี้ เพราะจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินกู้ 5,000 ล้านบาทผ่านธนาคารของรัฐ ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องซึ่งเกิดจากปัญหาการเมืองและภัยธรรมชาติ แต่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการได้รวมเป็นวงเงิน 150 ล้านบาท เท่านั้น ส่วนที่กู้ไม่ได้เพราะขาดคุณสมบัติ ติดเครดิตบูโร และติดแบล็กลิสต์
“ส่วนที่ผู้ประกอบการกู้ได้ 150 ล้านบาทนั้น น้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการเงินมาเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ เพราะการทำธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่จะทำรายได้เฉพาะช่วงไฮซีซัน แต่พอถึงโลว์ซีซันธุรกิจมีรายได้น้อยจึงขาดสภาพคล่อง ทำให้ขาดส่งเงินกู้จึงติดแบล็กลิสต์”
นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักๆ ของธุรกิจโรงแรมมี 2 เรื่องใหญ่ ขณะนี้คือสภาพคล่องทางการเงิน และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทั้งสองปัญหามีสาเหตุหลักมาจากจำนวนโรงแรมล้นตลาด หรือโอเวอร์ซัปพลาย ทำให้เกิดการแข่งขัน แต่ผู้ประกอบการรายเล็กสายป่านทางการเงินสั้นจึงขาดสภาพคล่อง ส่วนการเกิดโรงแรมจำนวนมากก็แย่งแรงงานที่มีไม่เพียงพอ ซึ่งเฉพาะโรงแรมที่จดทะเบียนถูกกฎหมายมี 1.2 แสนห้อง ต้องการแรงงาน 1.8 แสนคน ขณะที่แรงงานทั้งระบบมีราว 2 แสนคน ส่วนห้องพักที่ไม่ได้จดทะเบียนมีเท่าๆ กับจำนวนจดทะเบียน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังรับปากที่จะช่วยเหลือด้วยการนำรายชื่อโรงแรมที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายทำเป็นหนังสือเวียนออกจากกรมบัญชีกลางไปยังทุกหน่วยงานราชการ เพื่อให้ข้าราชการที่เดินทางไปประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดเข้าใช้บริการตามโรงแรมที่มีรายชื่อดังกล่าว แต่กระทรวงการคลังไม่สามารถยกเลิกระบบเหมาจ่ายค่าอาหารและที่พักให้แก่ข้าราชการได้ เนื่องจากต้องแก้กฎหมาย ข้อบังคับหลายขั้นตอน ทั้งนี้รวมถึงค่าคอฟฟีเบรก ซึ่งราชการยังใช้ค่าเฉลี่ยที่หัวละ 25 บาท ทั้งที่จริงเฉพาะโรงแรมในพื้นที่กรุงเทพฯ ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่หัวละ 300 บาท ส่วนโรงแรมต่างจังหวัดก็ลดลงตามแต่ละพื้นที่แต่ไม่ใช่ 25 บาทแน่นอน
สำหรับอัตราเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยตามรายภูมิภาค เฉลี่ย 4 เดือนแรกเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กรุงเทพฯ อัตราพักเฉลี่ย 60-61% เพิ่มขึ้น 6-9% ภาคตะวันออก 59% ลดลง 13% ภาคตะวันตก 62% เพิ่มขึ้น 1.63% ภาคเหนือ เฉพาะที่เชียงใหม่อัตราเข้าพักเฉลี่ย 53.53% เพิ่มขึ้น 15.89% ขณะที่ลำปาง 47% ลดลง 37.33% เป็นเพราะเจอปัญหาหมอกควัน ส่วนภาคใต้อัตราพักเฉลี่ยเฉพาะที่ภูเก็ต 77.18% เพิ่มขึ้น 10.27% ส่วนที่กระบี่ อัตราพักที่ 32.22% ลดลง 34.58%
นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า เตรียมเสนอขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ในงานเสวนา “งานสร้างคน คนสู้งาน 2012 ปีแห่งการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน” ที่จะจัดขึ้นวันที่ 25-26 พฤษภาคมศกนี้ ว่า
ขอให้กระทรวงการคลังขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไป 1 ปีให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมก็ให้รัฐช่วยเหลือโดยให้สามารถนำค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่า นาน 2 ปี ส่วนกรณีค่าคอฟฟีเบรก ขอภาครัฐปรับขึ้นค่ากาแฟและอาหารว่าง จากเดิมที่ภาครัฐก็อาจจะปรับขึ้นให้เล็กน้อยจากอัตรา 25 บาทต่อคนที่วางไว้ แต่เมื่อขึ้นค่าแรง ทำให้ต้นทุนค่าจ้างแรงงานของโรงแรมขยับขึ้นรวดเดียวไม่ต่ำกว่า 40% การที่ได้รับค่ากาแฟและอาหารว่างในอัตราเดิมที่ภาครัฐจ่ายก็คงไม่เพียงพอแล้ว