นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดเสวนา”นโยบายรัฐบาลในการสร้าง:ยุครถไฟ (Rail Age)” ในโอกาสคล้ายวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ครบรอบ 100 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศด้านระบบขนส่งทางราง เพื่อให้การพัฒนามีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะต้องวิเคราะห์จุดอ่อนของระบบรางว่ามีอะไรบ้างและต้องแก้ไขอย่างไร เช่นเมื่อเปรียบเทียบการขนส่งสินค้าระหว่างรางกับถนนพบว่า รถไฟยังด้อยกว่ารถบรรทุก เพราะรถบรรทุกขนส่งได้แบบ Door to Door ขณะที่รถไฟต้องเสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการขึ้น-ลง จากสถานีไปยังโรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ การบริการต้องตรงต่อเวลา เพื่อให้ผู้ประกอบการ เอกชน และประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกและคุ้มค่า จึงต้องมีการพิจารณาในทุกมิติให้รอบคอบ เพื่อให้ลงทุนไปแล้วมีผู้ใช้บริการตามเป้าหมาย
“รถไฟไทยอายุ 115 ปี แต่มีแค่ 4,000 กม. เป็นระบบทางคู่ 7% ระบบทางสามอีก 7 % เท่ากับมีระยะสำหรับสับหลีกได้แค่ 300 กม.หรือ 15% เท่านั้น ซึ่งเป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะต้องลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศลง 2% ภายใน 5 ปีหรือลดจาก 17.9% ต่อ GDP เหลือ 15.9% ซึ่งเฉพาะด้านการขนส่งจะต้องลดให้ได้ 8% หากรัฐบาลไม่จริงจังคงไม่มีทางลดได้ ซึ่งเห็นว่าปัญหาแรกที่ต้องแก้ไขคือ การพัฒนาด้านบุคลากรเพราะถ้าคนไม่มีประสิทธิภาพการพัฒนาเรื่องอื่นก็ทำได้ลำบาก”นายจารุพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาลคือ เร่งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สาย โครงการรถไฟทางคู่ ระยะทาง 873 กิโลเมตร โครงการรถไฟความเร็วสูง 1,400 กิโลเมตร 4 เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพ-เชียงใหม่,กรุงเทพ-นครราชสีมา กรุงเทพ-หัวหินและส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิ้งค์ (สุวรรณภูมิ-พัทยา-ระยอง) โครงการทางรถไฟสายใหม่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, สายบัวใหญ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม โดยจะต้องวางแผนการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้จากที่ดินตามสถานีรายทางเพื่อหารายได้เพิ่มมาลงทุนขยายเส้นทางในอนาคตและการซ่อมบำรุงเพื่อเพิ่มคุณภาพในการให้บริการด้วย
"ชัจจ์”สับคนร.ฟ.ท.ทำงานล้มเหลว ทำองค์กรเสียหาย
ด้านพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า การดำเนินการงาน 115 ปีที่ผ่านมา รถไฟมีหัวรถจักรดีเซลเพียง 120 หัวเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการจริงที่ต้องการถึง 300 หัว ซึ่งเกิดจากการบริหารงานที่ล้มเหลว เพราะคนในองค์กรและผู้นำองค์กรไม่จริงจัง ในขณะที่กระทรวงคมนาคมในฐานะที่กำกับดูแล ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีบทบาทเท่าที่ควร นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังถูกการเมืองเข้าไปแทรกแซงตั้งแต่อดีตอีกด้วย องค์กรจึงเกิดความเสียหาย การดำเนินโครงการต่างๆ ไม่ก้าวหน้า
“ปัญหารถไฟเกิดจากคน ดังนั้นเรื่องแรกจะต้องแก้วัฒนธรรมองค์กรใหม่และเปลี่ยนผู้นำ ซึ่งยอมรับว่า ที่ผ่านมาคนรถไฟไม่กระตือรือร้น ไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าขององค์กร ไม่ทำหน้าที่ของตนเอง เช่นมีการไปเดินขบวนทางเมือง เป็นต้น และยังมีการปล่อยปะละเลยให้มีการบุกรุกที่ดินรถไฟ จนถึงขั้นมีการออกโฉนดทับที่ดินรถไฟที่ภุเก็ต ไป 17 แปลงประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งล่าสุดศาลปกครองเพิ่งมีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนไปแล้ว ” พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าว
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังมีปัญหาเรื่องผลการดำเนินงานจนทำให้ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ไม่สามารถตรวจรับบัญชีของ ร.ฟ.ท.ได้มาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการทำงานของ ร.ฟ.ท.จะเริ่มดีขึ้น หลังจากที่ได้พยายามทำความเข้าใจร่วมกันกับพนักงาน เพื่อปรับการทำงานร่วมกันใหม่ ฟื้นฟูการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มีการปลุกระดม ให้กำลังใจ ทำให้รู้หน้าที่ เพื่อให้มีสภาพจิตใจที่พร้อมจะทำงาน และในเดือนก.ค.นี้ นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.จะครบวาระการทำงาน 4 ปี เชื่อการทำงานก็จะเริ่มไปในทิศทางที่ดี
พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวว่า การลงทุนรถไฟความเร็วสูงนั้นเนื่องจากประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องภาระหนี้สิน ดังนั้นจะเปิดโอกาสให้กับทุกประเทศที่สนใจเข้ามาเสนอแผนการลงทุนโดยเลือกวิธีที่ดีที่สุด ถูกที่สุด และวิธีการลงทุนแบบบาร์เตอร์เทรด แลกสินค้าเกษตรกับเทคโนโลยี