xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลวงระดมฟื้นฟูถนน เตือนเลี่ยงสายหลักทั้งวิภาวดี-พหลโยธิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมทางหลวงเร่งฟื้นฟูถนนที่เสียหายจากอุทกภัยแนะประชาชนเลี่ยงใช้เส้นทางหวั่นไม่สะดวก
นายสมชาย เดชภิรัตนมงคล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงทาง กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไปจะมีการฟื้นฟูถนนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลถึง 116 จุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจราจรและอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการใช้รถใช้ถนน จึงต้องการให้ประชาชนหลีกเลี่ยงใช้เส้นทางดังกล่าว โดยตามแผนจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 5 เดือน แล้วเสร็จทั้งหมดไม่เกินเดือนกันยายน 2555

ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูถนนที่เสียหายจากน้ำท่วมนั้นใช้งบรวม 10,200 ล้านบาท แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน 33 โครงการ วงเงิน 1,810 ล้านบาท ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2555 คืบหน้ากว่า 90% เสร็จสมบูรณ์แล้วกว่า 10 โครงการ ฟื้นฟูทั่วไปอีก 625 โครงการ เริ่มดำเนินงานแล้วประมาณ 80% ซึ่งจะใช้งบกลาง 120,000 ล้านบาท และการป้องกันน้ำท่วมแบบบูรณาการปิดล้อมเขตเศรษฐกิจตามแนวถนนด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 91 โครงการ วงเงิน 9,583 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติกรอบวงเงินแล้ว โดยจะใช้งบ 350,000 ล้านบาทของรัฐบาล

สำหรับการฟื้นฟูในพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 116 จุด (แผนงาน) วงเงิน 3,386 ล้านบาท ประกอบด้วย ในเขตกรุงเทพฯ 14 แผนงาน ปทุมธานี 21 แผนงาน อยุธยา 20 แผนงาน สมุทรสาคร 15 แผนงาน ฝั่งธนบุรี 22 แผนงาน นนทบุรี 18 แผนงาน และนครนายก 6 แผนงาน โดยได้ลงนามกับบริษัทผู้รับเหมาแล้ว 72 แผนงาน

นายธานินทร์ สมบูรณ์ รองอธิบดีฝ่ายดำเนินงาน ทล.กล่าวว่า เส้นทางที่เป็นกังวลว่าจะเกิดปัญหาจราจรและต้องการให้หลีกเลี่ยง เช่น ถนนบรมราชชนนี ถนนกาญจนาภิเษก (แยกบางแค-บางปะอิน) ถนนวิภาวดี ถนนพหลโยธิน (อนุสรณ์สถาน-วังน้อย) และช่วงรังสิต-นครนายก เป็นต้น ดังนั้นจึงประชุมร่วมกับผู้รับเหมา, ตำรวจจราจรวางแผนและกำหนดวิธีการก่อสร้างร่วมกันเพื่อให้กระทบต่อการจราจรน้อยที่สุด โดยช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนจะมีการก่อสร้างค่อนข้างมากเพราะเป็นช่วงฝนไม่ตก

“เมื่อผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ทั้งหมดจะกระทบต่อประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งกรมฯ ได้แนะนำเส้นทางเลี่ยง 4 เส้นทางในการเข้าออกกรุงเทพฯ ทั้งด้านเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, ตะวันตกและใต้ โดยตรวจสอบได้ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมทางหลวง หรือ bhs.doh.go.th และตรวจสภาพจราจรผ่านกล้องวงจรปิดของกรมทางหลวงที่มีอยู่ 64 ตัว และกล้องของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่มี 170 ตัวได้เช่นกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น