xs
xsm
sm
md
lg

เผยแผน V&B เทกโอเวอร์สุขภัณฑ์หวัง ใช้เป็นฐานผลิต-ส่งออกตลาดอาเซียนรับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุขภัณฑ์นามเผย Villeroy & Boch เทกโอเวอร์หวังใช้เป็นฐานการผลิต-ส่งออกกลุ่มตลาดอาเซียน ล่าสุดทุ่มงบ 200 ล้านบาทขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 800,000-900,000 ชิ้นต่อปี พร้อมตั้งเป้าปี 55 เติบโต 15% หรือมียอดขายรวม 500 ล้านบาท ล่าสุดจัดแคมเปญฉลองครบรอบ 10 ปี วางคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ใหม่ภายใต้คาแรกเตอร์ Nahm ‘Asian, urban, massclusive’ ส่งคอลเลกชันใหม่ล่าสุด วาบิ (WABI) และ นาน (NAAN) พร้อมอวดโฉมอีก 2 ซีรีส์ เน้นคอนเซ็ปต์ดีไซน์ ร่วมงานสถาปนิก ’55 กับคอนเซ็ปต์บูทเรือนสีเขียวของฉัน เผยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC 2015 ปลุกกระแสตลาดสุขภัณฑ์ให้มีแนวโน้มที่สดใส

นายสุเมธ อินทามระ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและส่งออก บริษัท นาม สุขภัณฑ์ จำกัด ในเครือ Villeroy & Boch หรือ V&B ผู้ผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์จากเยอรมนี กล่าวว่า การเข้ามาเทกโอเวอร์ของ V&B เพื่อใช้นามเป็นฐานในการผลิต และส่งออกสินค้าสุขภัณฑ์ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการเปิดตลาดดังกล่าว บริษัทได้มีการขยายกำลังการผลิตดเพิ่มจากเดิม โดยได้ติดตั้งเตาเผาเพิ่ม และมีการก่อสร้างอาคารใหม่ โดยใช้งบลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้กำลังการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นจากเดิม 500,000 ชิ้นต่อปี เป็น 800,000-900,00 ชิ้นต่อปีในช่วงปลายปี 55 นี้

สำหรับแผนการทำตลาดในประเทศหลังการเพิ่มกำลังผลิต จะมีการแบ่งเซกเมนต์สินค้ากันอย่างชัดเจน โดยสินค้าภายใต้แบรนด์นามจะเน้นจับกลุ่มตลาดระดับกลาง-ล่าง ซึ่งจะมีราคาขายต่ำกว่าสินค้าแบรนด์ V&B2-3 เท่า ขณะที่สินค้าภายใต้แบรนด์ V&B จะเน้นจับตลาดระดับบน ซึ่งมีราคาขายที่สูงกว่าสินค้าในตลาด 3-4 เท่า ขณะที่การทำตลาดส่งออกนั้นจะใช้แบรนด์ V&B เจาะตลาดในกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ เพราะเป็นแบรนด์ชั้นนำที่ได้รับการยอมรับ ส่วนแบรนด์นามจะเจาะกลุ่มตลาดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว กัมพูชา ฯลฯ

ส่วนช่องทางการจำหน่ายในประเทศนั้น ปัจจุบันบริษัทมียอดขายผ่านโครงการ 30% และผ่านโมเดิร์นเทรด และผู้แทนจำหน่ายทั่วไป 70% แต่งหลังจากนี้ไปจะพยายามเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายทั้ง 2 ช่องทางให้มีสัดส่วนเท่าๆ กันคือ 50:50 สำหรับในปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายรวมอยู่ที่ 400 ล้านบาทเศษซึ่งเติบโตจากปี 2554 ประมาณ 12% ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดรวมสุขภัณฑ์ในประเทศมีมูลค่ารวมประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10-12% ต่อปี ส่วนในปีนี้บริษัทตั้งเป้าว่าจะมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 10-15% หรือมียอดขายรวมประมาณ 500 ล้านบาท

สำหรับ ปัญหาของการดำเนินธุรกิจในขณะนี้ คือ การขาดแคลนแรงงาน แม้ว่ารัฐบาลจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ แต่ในส่วนของบริษัทนั้นมีการจ้างแรงงานในราคาที่สูงกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่ก็ยังขาดแคลนแรงงานอยู่ นอกจากนี้เมื่อบริษัทมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มจะทำให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว ดังนั้นปัญหาสำคัญขณะนี้จึงเป็นเรื่องของการขาดแรงงาน

ส่วนการปรับขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ และเชื้อเพลิง รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงในขณะนี้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกกว่า 20% ในขณะที่การปรับราคาขายสินค้านั้นไม่สามารถปรับขึ้นได้เท่ากับต้นทุนที่แท้จริง โดยในการปรับขึ้นราคาแต่ละครั้งทำได้เพียง 3-5% เท่านั้น

นายสุเมธ กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์คุณภาพ ‘nahm’ ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และเป็นหนึ่งในผู้นำของประเทศเรื่องสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ จากยุโรปมาพัฒนาการผลิต ทำให้สุขภัณฑ์จากนามมีคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังไม่ได้จำกัดการทำตลาดอยู่เพียงภายในประเทศ แต่ส่งออกคุณภาพไปถึงทวีปยุโรป และประเทศต่างๆ ในเขตเอเชียแปซิฟิก

ทั้งนี้ หลังการร่วมทุนในปี พ.ศ. 2551 กับ Villeroy & Boch AG ผู้ผลิตสินค้าเซรามิกคุณภาพสูงทั้งเครื่องใช้ในห้องน้ำ กระเบื้อง และจานชามอันดับต้นของโลกจากประเทศเยอรมนี ที่มีประวัติยาวนานกว่า 260 ปี เพื่อขยายตลาดในเมืองไทย และเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก

นาม ก้าวสู่สายตาผู้บริโภค
ในฐานะผลิตภัณฑ์คุณภาพ ที่มิใช่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์จากความสามารถในการผลิตจำนวนมาก หากแต่เป็นผู้กล้าที่จะเปลี่ยนสุขภัณฑ์เป็นสินค้า Lifestyle ที่มีบุคลิกพิเศษ ตามความตั้งใจที่จะสร้าง Signature of Individual หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัวสำหรับผู้ใช้ทุกคน

โดยในปี 2555 นี้นามกำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่ 10 ของการดำเนินธุรกิจ จึงได้ถือโอกาสตอกย้ำความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในงานสถาปนิก ’55 ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายนนี้ ณ ชาลเลนเจอร์ ฮอลล์ ศูนย์การแสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี โดยได้มีการวางคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ภายใต้คาแรกเตอร์ Nahm ‘Asian, urban, massclusive’ เน้นความเป็นเอเชีย เอาใจไลฟ์สไตล์คนเมือง เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก แต่ทำให้รู้สึกว่าทำพิเศษเฉพาะโดยอาศัยเทคโนโลยีการผลิตระดับคุณภาพของสุขภัณฑ์มีดีไซน์

สำหรับในงานสถาปนิก’55 กับคอนเซ็ปต์บูทเรือนสีเขียวของฉัน ‘My Green House’ จำลองเรือนเพาะชำสะท้อนชีวิตคนเมืองที่วุ่นวาย ห่างไกล ความเขียว ความชุ่มฉํ่า จึงดึงเอาความเขียว ความชุ่มฉํ่าเข้ามาใกล้ชิดเพื่อให้ความอบอุ่นและเป็นมิตร อีกทั้งสภาวะความเป็นอยู่ของคนเมืองในปัจจุบันมีจำนวนน้อยที่จะเข้าถึง หรือมีสวนอยู่หลังบ้านที่สามารถเข้าไปเดินได้บ่อยๆ นามจึงได้ออกแบบและจำลองมาให้ลูกค้าได้สัมผัส

นอกจากนั้น นามยังคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยใช้วัสดุพื้นฐาน และใช้ตามขนาดมาตรฐาน เช่น แผ่นวีว่าบอร์ด ทำให้ลดการใช้พลังงานในการก่อสร้าง และเศษทิ้งส่วนเกิน รวมถึงมีการใช้หลังคาลอนใส สวยงาม ประหยัดพลังงานด้านแสงสว่าง นอกจากนี้ ในส่วนพื้นและผนังไม้ยังให้อารมณ์ความอบอุ่น แต่ทันสมัยด้วยไม้สีอ่อน เป็นพื้นไม้สำเร็จรูปที่เมื่อเสร็จงานแล้วสามารถถอดไปประกอบนำกลับมาใช้งานใหม่ได้อีกด้วย (Reuse) และที่เป็นไฮไลต์คือการประดับตกแต่งด้วยต้นไม้จริงใบเขียว สร้างความสดชื่นและชุ่มฉ่ำ ทำให้อากาศในห้องสะอาดขึ้น ซึ่งเป็นการจัดวางไว้เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมบูทได้พักสายตาจากความร้อน และวุ่นวายด้วยสีเขียวของใบไม้นั่นเอง

ในส่วนของสินค้าใหม่ล่าสุด 3 รุ่นที่จะเปิดตัวในงานนี้ ประกอบไปด้วย WABI Vanity Washbasin อ่างล้างหน้าพร้อมตู้เฟอร์นิเจอร์แบบแขวนรุ่น วาบิ ร่วมด้วย NAAN Direct Flush WC โถสุขภัณฑ์แบบตั้งพื้นนาน ท่อน้ำเข้าด้านบนสำหรับงานโครงการ และ NAAN Urinal โถปัสสาวะชายรุ่นนาน แบบท่อน้ำเข้าด้านบนและด้านหลัง ซึ่งคอลเลกชัน NAAN จะกลายเป็นคอลเลกชันที่พร้อมสรรพสำหรับงานโครงการที่เน้นความทันสมัย โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15%

ทั้งนี้ มองว่าภาพรวมสถานการณ์ของตลาดสุขภัณฑ์ในประเทศกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา และกำลังมีแนวโน้มที่สดใสจากการมาถึงของการเปิดเสรีการค้าร่วมกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC2015 ที่จะทำให้เกิดการขยายตัว และเพิ่มความต้องการของตลาดสุขภัณฑ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยประโยชน์ที่ทำให้นามได้อานิสงส์ไปด้วยก็คือ การลดและยกเลิกมาตรการทางภาษีการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนในเป็น 0% ทั้งหมด และการเพิ่มโอกาสในการส่งออกของสุขภัณฑ์นาม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น