xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เผยจัดการบริหารน้ำได้ตามเป้า เข้าหน้าฝนนี้สองเขื่อนใหญ่ “ภูมิพล-สิริกิติ์” รับได้ 10,957 ล้าน ลบ.ม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กฟผ.ระบายน้ำเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ ได้ตามเป้าหมายรัฐบาล ปลายเมษาฯ 55 สองเขื่อนใหญ่จะมีช่องว่างสำหรับรับน้ำในฤดูฝน 10,957 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้งานเพียงพอสำหรับภาคการเกษตรอีกจำนวน 5,365 ล้าน ลบ.ม.

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ปัจจุบัน (10 เมษายน 2555 เวลา 24.00 น.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 38,915 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด มากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน 3,860 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 11 โดยอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ (เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์) มีปริมาณน้ำในอ่างมากกว่าปีที่แล้ว 1,796 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 16 อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันตก (เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนท่าทุ่งนา และเขื่อนวชิราลงกรณ์) มีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้ว 2,294 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 14 ส่วนอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีปริมาณน้ำในอ่างน้อยกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย

ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำกล่าวต่อไปว่า การระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ กฟผ.ทุกแห่งที่ระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2555 สามารถระบายน้ำได้ตามแผน สำหรับอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งระบายน้ำเพื่อโครงการเจ้าพระยานั้น จะสิ้นสุดการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งในเดือนเมษายนนี้ โดยตั้งแต่ต้นฤดูแล้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2555 ระบายน้ำไปแล้วทั้งสิ้น 12,174 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลือต้องระบายน้ำช่วงฤดูแล้งระหว่างวันที่ 11-30 เมษายน 2555 อีก 1,049 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนทั้งสองตลอดช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554-30 เมษายน 2555 ประมาณ 13,200 ล้าน ลบ.ม.

ปัจจุบัน ( 10 เมษายน 2555 เวลา 24.00 น.) เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 7,467 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 55 ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ถึงปัจจุบันไปแล้ว 7,068 ล้าน ลบ.ม. เหลือต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 610 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งในเดือนเมษายน 2555 จะเหลือปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณร้อยละ 52 ซึ่งจะมีช่องว่างสำหรับรับน้ำในช่วงฤดูฝน 6,483 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้งานได้สำหรับการใช้น้ำช่วงฤดูฝน 3,179 ล้าน ลบ.ม. สำหรับเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 5,382 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 57 ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ถึงปัจจุบันไปแล้ว 5,106 ล้าน ลบ.ม. เหลือต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 440 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งในเดือนเมษายน 2555 จะเหลือปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณร้อยละ 53 ซึ่งจะมีช่องว่างสำหรับรับน้ำในช่วงฤดูฝน 4,473 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้งานสำหรับช่วงฤดูฝน 2,187 ล้าน ลบ.ม. รวมสองเขื่อนจะมีช่องว่างสำหรับรับน้ำในช่วงฤดูฝน 10,957 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้งานได้ 5,365 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และเพื่อการเกษตร หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง

ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำกล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนเมษายนเป็นช่วงฤดูร้อนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในทุกภาคส่วน ประกอบกับกรณีที่แหล่งก๊าซฯ เยตากุน ประเทศพม่า จะทำการซ่อมบำรุงท่อก๊าซและหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติแก่ประเทศไทยในช่วงวันที่ 8-17 เมษายน 2555 ส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่สามารถใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งกำกับดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ให้ความสำคัญเรื่องการระบายน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้จัดทำแผนการระบายน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวให้เพียงพอเพื่อการเกษตรและการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ในช่วงวันที่ 9-11 เมษายน และวันที่ 17-18 เมษายน 2555 โดยจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล จากวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 50 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จากวันละ 24 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 40 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จากวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 41 ล้าน ลบ.ม. โดยจะทยอยปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นและลดลงเพื่อไม่ให้กระทบต่อสภาพน้ำด้านท้าย สำหรับเขื่อนศรีนครินทร์นั้นยังระบายน้ำคงเดิมประมาณวันละ 24 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนท่าทุ่งนาลงสู่ท้ายน้ำประมาณวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะไม่กระทบหรือก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตลิ่งด้านท้ายน้ำ

ทั้งนี้ กฟผ. จะร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในปี 2555 นี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย รวมถึงการป้องกันภัยแล้งอย่างสมดุล
กำลังโหลดความคิดเห็น