ผลศึกษาทีดีอาร์ไอเบื้องต้น แนะให้ไทยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสู่ระบบราคาลอยตัว โดยให้ อนท.ทำหน้าที่สต๊อกน้ำตาลเพื่อป้องกันความเสี่ยงขาดแคลนจากผู้ผลิตขายล่วงหน้าหมดกรณีไม่มีระบบโควตาน้ำตาล
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ขณะนี้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ซึ่งได้ทำการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ได้จัดทำรายงานเบื้องต้นเสร็จแล้ว และจะมีการนำเสนอผลสรุปรายงานวันที่ 10 เมษายนนี้ โดยเบื้องต้นทีดีอาร์ไอเสนอให้มีการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลไปสู่แนวทางการลอยตัวเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยเสนอแนะว่าให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ทำหน้าที่ในการสต๊อกน้ำตาลทรายไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ผู้บริโภคในประเทศจะขาดแคลนน้ำตาลจากการนำไปขายตลาดล่วงหน้าหมด
“ทีดีอาร์ไอได้เสนอการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้อิงตลาดโลก แต่จะคงโควตา ก.(น้ำตาลบริโภคในประเทศ) หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐจะต้องไปพิจารณาให้รอบคอบเพราะจริงๆ แล้วถึงเวลาที่จะต้องเปิดเสรีเลย แต่ปัญหาคือ หากไม่มีโควตา ก.กันไว้น้ำตาลอาจขาดตลาดได้ ถ้าราคาโลกสูงจะทำให้ผู้ผลิตขายล่วงหน้าหมด ดังนั้น จึงเสนอทางเลือกให้ อนท.ทำหน้าที่ในการสต๊อกน้ำตาลไว้ประมาณ 6-8 เดือนแล้วค่อยๆ ทยอยออก นอกจากจะป้องกันการขาดแคลนแล้ว ยังเป็นการดูแลเสถียรภาพราคาไปด้วย” แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลักการลอยตัวราคาน้ำตาลคงจะต้องค่อยๆ ทยอยดำเนินการ ส่วนระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงาน 70:30 ยังเสนอให้เป็นสัดส่วนเดิม หากแต่มีข้อเสนอในการดูแลประสิทธิภาพการผลิตของทั้งชาวไร่ และโรงงาน โดยเฉพาะการกำหนดค่าประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน