xs
xsm
sm
md
lg

ยาม-แม่บ้านจ่อถูกปลด! เซ่นค่าแรง 300 SMEs อ่วมคาดม้วนเสื่อ 2 แสนราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - หอการค้าไทย เผย ผู้ประกอบการ 98% จาก 2.2 ล้านราย ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท คาดกว่า 2 แสนราย อาจต้องม้วนเสื่อเลิกกิจการ หรือย้ายฐานหนี ระบุ ยาม แม่บ้าน ก่อสร้าง หนักสุด จ่อปลดคนงาน หลังต้นทุนพุ่ง แนะรัฐบาลตั้งกองทุนหมื่นล้านช่วยเหลือ SMEs และฟังความเห็นผู้ประกอบการให้มาก

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 ใน 7 จังหวัดนำร่อง ว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่มีการจ้างแรงงานตั้งแต่ 1-25 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 98% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศจำนวน 2.2 ล้านราย จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ และคาดว่า ประมาณ 10% หรือ 2 แสนราย จะต้องปิดกิจการหรืออาจจะต้องย้ายฐานการผลิต ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่จ้างแรงงานตั้งแต่ 500-1,000 คนขึ้นไป ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ มีไม่ถึง 1% ของสถานประกอบการทั่วประเทศ

“ตอนนี้ ผู้ประกอบการใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และ นนทบุรี มีสัดส่วนประมาณ 40% ของผู้ประกอบการทั้งหมด จะได้รับผลกระทบทันที ส่วนจังหวัดที่เหลือ แม้จะยังไม่ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท แต่ก็ต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เมื่อถึง 1 ม.ค.2556 ก็ต้องปรับค่าแรงเป็นวันละ 300 บาทหมด ตอนนั้นผลกระทบก็จะครอบคลุมทั้งประเทศ”

นายภูมินทร์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 ของรัฐบาล ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจดูแลรักษาความปลอดภัย (รปภ.) และพนักงานโรงแรม ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เพราะส่วนใหญ่มีการทำสัญญากับผู้ว่าจ้างไว้แล้ว อาจจะเป็นสัญญาระยะ 3 ปี 5 ปี โดยคำนวณค่าแรงงาน ค่าบริการจัดการไว้เรียบร้อย แต่เมื่อค่าแรงงานขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ก็ไม่สามารถไปขอแก้ไขสัญญาการว่าจ้างได้ ก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น

โดยสัดส่วนการจ้างแรงงานของไทยในปัจจุบัน แบ่งเป็นภาคบริการ 24.72% ภาคเกษตร 38.24% ภาคอุตสาหกรรม 20.68% และภาคการค้า 16.40%

“พูดง่ายๆ SMEs ได้รับผลกระทบหมด ตอนนี้ถ้าใครอยากลดค่าใช้จ่าย ก็ต้องเอาคนออก อย่างบริษัทยาม โรงแรม ที่จ้างแม่บ้าน คนทำความสะดวก หรือบริษัทก่อสร้าง ที่จ้างแรงงาน ถ้ารับภาระไม่ไหว ก็ต้องให้ออก แล้วไปเพิ่มปริมาณงานให้กับคนที่ยังอยู่ ส่วนธุรกิจอื่นๆ ถ้าทำต่อแล้วขาดทุน ก็คงไม่มีใครฝืนทำ สุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการ” นายภูมินทร์ กล่าว

ส่วนผลกระทบด้านการลงทุนจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ ประเมินว่า การลงทุนอาจจะหายไป 1 แสนล้าน หรือ 25% จากมูลค่าการลงทุนทั้งหมดปีละ 4 แสนล้านบาท เพราะนักลงทุนมองว่าค่าครองเป็นต้นทุนสำคัญอันหนึ่ง แต่หากรัฐบาลมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน หรือผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุน โอกาสที่การลงทุนจะลดน้อยลงก็มีสูง

นายภูมินทร์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำในครั้งนี้ ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ SMEs วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง และควรจะพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้มีแรงงานฝีมือเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้นและลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และ 20% ในปี 2556 ที่สำคัญ ควรจะรับฟังความเห็นของภาคเอกชน เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น