“เอแบคโพลล์” เผยผลสำรวจ “เงินออม” ยุคข้าวยากหมากแพง พบส่วนใหญ่ 72% ไม่มีเงินเหลือเก็บ ระบุต้นเหตุสำคัญ รายจ่ายเพิ่ม แต่รายได้เท่าเดิม หลังเจอวิกฤตน้ำท่วม สวนทางข้อมูลในจอทีวีประโคม ศก.ดีขึ้น ขณะที่กลุ่มมีรายได้สูง ก็ไม่สามารถเก็บออม เพราะอิทธิพลของกลยุทธ์ทางการตลาด และแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของระบบทุนนิยม
นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง สำรวจพฤติกรรมความเอาใจใส่ในการเก็บออมของคนไทยยุคปัจจุบัน ที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 2,674 ตัวอย่าง พบว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 72.0 ระบุ ไม่มีการแบ่งเงินเก็บออมหรือลงทุน โดยมีเหตุผลสำคัญ คือ ผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม รายจ่ายเพิ่มขึ้น แต่รายได้เท่าเดิม หรือลดลง
นอกจากนี้ สภาวะเศรษฐกิจหน้าจอทีวี ที่บอกว่าดีขึ้น กลับไม่ตรงกับความเป็นจริงในสภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน และในกลุ่มที่มีรายได้สูง ก็ไม่ได้เก็บออม เพราะอิทธิพลของกลยุทธ์ทางการตลาด และแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของระบบทุนนิยม ขณะตัวอย่างร้อยละ 28.0 ระบุ เก็บออมเงินไว้ โดยเก็บออมเฉลี่ยอยู่ที่ 3,122 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ รูปแบบการออมเงิน หรือลงทุน จากผลสำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่เลือกออมเงิน โดยฝากธนาคาร รองลงมา คือ เลือกออมกับแผนการเงินในรูปแบบการทำประกัน และเลือกออมโดยการซื้อสลากออมสิน และจากผลสำรวจ เห็นได้ว่ารูปแบบการออมส่วนใหญ่เป็นการฝากเงินไว้กับธนาคาร ซึ่งจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของกลุ่มธนาคาร ในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่สามารถกระตุ้นการออมเงินของประชาชนได้ เช่น การมีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลาย และให้ดอกเบี้ยสูง มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการออมเงิน เป็นต้น