xs
xsm
sm
md
lg

ค้านขึ้นภาษีแอร์ซ้ำเติมของแพง “พาณิชย์” ย้ำรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ-เร่งแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ส.อ.ท.เตรียมตบเท้าพบอธิบดีกรมสรรพสามิต คัดค้านนโยบายกลับมาจัดเก็บภาษี 15% อีกครั้ง จากปัจจุบันเก็บอัตรา 0% ชี้ ขณะนี้ต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรง 300 บาท ก็แทบไม่เอาอยู่ หากเจอภาษีเพิ่มอีกเชื่อราคาแอร์พุ่งขึ้นอีก 23-24% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ย้ำ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งแก้ปัญหาของแพง เผยเตรียมลดภาษีเงินได้นิติบุคคล หวังลดต้นทุนการผลิต

นางจินตนา ศิริสันธนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับตัวแทนผู้ประกอบการเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็น วานนี้ (26 มี.ค.) ว่า ทางกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ เตรียมเข้าชี้แจงต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตในเร็วๆ นี้ เพื่อคัดค้านนโยบายที่จะกลับมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศในอัตรา 15% เท่าเดิม จากปัจจุบันที่ยกเว้นการเก็บภาษีในอัตรา 0% ตั้งแต่ 2 ก.ย.2552 เนื่องจากข้อมูลที่กรมสรรพสามิต ระบุว่า ราคาเครื่องปรับอากาศไม่ได้ปรับลดลง หลังจากรัฐยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเหลือ 0% นั้นไม่เป็นความจริงเลย โดยกลุ่มมีหลักฐานยืนยันว่าราคาเครื่องปรับอากาศได้ปรับลดลงมาโดยตลอด นับจากรัฐยกเว้นภาษีทำให้ราคาถูกลง 3,000-20,000 บาท/เครื่องหรือประมาณ 15-30% อีกทั้งอุตสาหกรรมนี้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศมากกว่า 90% ว่าจ้างแรงงานนับแสนคน และส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 3.76 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะคู่แข่ง อย่าง จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็ไม่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศแล้ว ทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งโดยเฉพาะแบรนด์เครื่องปรับอากาศของไทยเอง ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้นำการผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่สุดในอาเซียน และในอีก 3 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงอยากวิงวอนให้รัฐใช้ดุลพินิจให้รอบคอบ เนื่องจากทั่วโลกยอมรับว่า เครื่องปรับอากาศเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทั้งนี้ หากรัฐมีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศจะเป็นซ้ำเติมผู้บริโภคในสภาพเศรษฐกิจที่มีค่าครองชีพสูงเช่นนี้ เพราะผู้ประกอบการแอร์มีภาระต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากวัตถุดิบ คือ ราคาทองแดงปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 3,000-4,000 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และเดือน เม.ย.นี้ ต้องปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาท หากรัฐยังเรียกเก็บภาษีสรรรพสามิต 15% รวมกับการจ่ายภาษีบำรุงท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) จะทำให้ราคาเครื่องปรับอากาศปรับเพิ่มขึ้น 23.5-24% ผู้ประกอบการคงเอาไม่อยู่ สุดท้ายก็ต้องปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน ซึ่งจะเป็นช่องทางทำให้แอร์เถื่อนที่ไม่ได้คุณภาพกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง หลังจากที่หมดไปเมื่อ 2ปีก่อน อีกทั้งยังทำให้อุตสาหกรรมนี้จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายการเติบโต 10-15% ในปีนี้คงจะไม่เติบโต หรือไม่แน่ใจว่าจะอยู่รอดได้หรือไม่

“ลำพังการปรับขึ้นค่าแรงในเดือน เม.ย.นี้เป็น 300 บาท/วัน ก็เป็นภาระให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งบางรายอาจจะปรับขึ้นราคาสินค้าหรือไม่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้น แต่ถ้ารัฐมีการเก็บภาษีเชื่อว่าทุกรายคงต้องปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน”

นายสุเมธ สิมะกุลธร ประธาน บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ได้ใช้เวลานาน 17 ปีกว่าที่รัฐจะยอมยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิต จาก 15% เหลือ 0% ในปี 2552 ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐอ้างเหตุผลทั้งเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมและการใช้ไฟมาก ซึ่งผู้ประกอบการเครื่องปรับอากาศก็ปรับปรุงประสิทธิภาพ จนปัจจุบันเครื่องปรับอากาศไม่มีการใช้สารที่ทำลายมลภาวะและกินไฟได้น้อยกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด อาทิ เครื่องทำน้ำร้อนและเครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น จึงอยากวิงวอนรัฐให้เข้าใจว่าผู้ประกอบการก็เดือดร้อนจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรง หากรัฐเก็บภาษีก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมซึ่งภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บได้ 1,700 ล้านบาท (หากจัดเก็บภาษีอัตรา 15% เท่าเดิม) เทียบกับเม็ดเงินจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศในแต่ละปีกว่า 3 แสนล้านบาทไม่ได้เลย

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศอยู่ 18 ล้านเครื่อง โดยจำหน่ายในประเทศ 1 ล้านเครื่อง ที่เหลือส่งออกทั้งหมด ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ติด 1ใน 5 ของโลก รองจากจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และแซงหน้ามาเลเซีย หากรัฐมีนโยบายจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เชื่อว่า สุดท้ายไทยคงแพ้ให้กับมาเลเซีย และเวียดนาม

** พาณิชย์ เผยจ่อลดภาษีเงินลดต้นทุนการผลิต
โดย พลเอก ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการพิจารณากระทู้ถามด่วน เรื่อง การดำเนินการของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาสินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้นให้กับผู้ประกอบการ และประชาชน โดย นายอนุรักษ์ นิยมเวช เป็นผู้ตั้งกระทู้ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯได้มอบหมายให้ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ เป็นผู้ตอบแทน

ทั้งนี้ นายอนุรักษ์ กล่าวว่า ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูง ยิ่งทำให้ราคาของสินค้าอุปโภคและบริโภคสูงขึ้นด้วย อย่างเช่น ราคาก๊าซหุงต้มที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ราคาต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการต้องเพิ่มขึ้นอีก 3-6 เปอร์เซ็นต์ และยังมีปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นอีก จึงอยากจะถามรัฐบาลว่า มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับเงินค่าแรงงานขั้นต่ำ และนโยบายในการแก้ไขปัญหาระยะสั้น อย่างไร ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องตอบว่า จะมีการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี อย่างไร เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้

นายศิริวัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการติดตามแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ในด้านของราคาสินค้าก็จะมีการตรึงราคาเอาไว้ ในส่วนของสินค้าจำหน่ายปลีก ทางรัฐบาลก็จะดูแลราคาในการจำหน่าย โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ก็จะมีการติดตามในทุกๆ สัปดาห์ และก็จะดูแลไม่ให้มีการกักตุนสินค้า ซึ่งก็จะมีมาตรการทางกฎหมาย เพื่อดูแลสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนด้วย

นายศิริวัฒน์ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ขอปรับราคาสินค้าขึ้น นโยบายของรัฐบาลยังสนับสนุนให้มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และยังมีโครงการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย เช่น การประหยัดพลังงานในโรงงานขนาดเล็ก หรือ โครงการแปรรูปสินค้าการเกษตร ที่จะทำให้ราคาต้นทุนการผลิตก็จะลดลงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น