“ค้าภายใน” ยันราคาน้ำมันแพงไม่กระทบต้นทุนราคาสินค้า “รมว.พาณิชย์” แจงกระทู้สดถามนายกฯ ยันราคาสินค้าไม่แพง รบ.สั่งเฝ้าระวังใกล้ชิด เตือนผู้ผลิต ไม่ควรอ้าง “ค่าแรง-น้ำมัน” เพื่อขึ้นราคาสินค้า
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางกรมฯ ได้ศึกษาผลกระทบจากการปรับราคาของน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อต้นทุนการผลิตสินค้า พบว่า สินค้าบางประเภทแทบไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ค่าเชื้อเพลิงไม่เกินร้อยละ 0.05 สินค้าอาหาร ใช้ค่าเชื้อเพลิงประมาณร้อยละ 0.4
ขณะที่ผลสำรวจพบว่า สินค้าบางรายการอาจได้รับผลกระทบมาก เช่น สินค้าวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากน้ำหนักสูง โดยมีค่าเชื้อเพลิงประมาณร้อยละ 5 แต่จากการศึกษาทั้งระบบ พบว่า ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ผู้ผลิตจะนำมาเป็นข้ออ้างในการขอปรับราคาสินค้า
สำหรับวาระกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี เรื่องราคาสินค้าแพง ซึ่ง นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดยะลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นผู้ถาม โดยได้หยิบยกราคาอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นมาสักถาม เนื่องจากราคาสิ้นค้าที่สูงขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งประเทศ
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่า รัฐบาลได้ติดตามเรื่องราคาสินค้าแพง และดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งความเป็นจริงราคสินค้าไม่ได้สูงขึ้น เพราะบ้างรายการลดลง
ทั้งนี้ รัฐบาลมีการติดตามเฝ้าดูราคาสินค้า และจัดระดับเฝ้าติดตาม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์ กลุ่มที่ติดตามอย่างใกล้ชิดทุกสองสัปดาห์ กลุ่มที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดทุกวัน โดยเฉพาะเรื่องน้ำมัน ส่วนราคาสินค้าที่ถูกควบคุม 42 รายการ มีการติดตามดูอย่างต่อเนื่อง โดยยึดเอากฎหมายเป็นหลักในการพิจารณา โดยหากใครฝ่าฝื่นจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
ส่วนการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเริ่มในวันที่ 1 เมษายน 2555 นี้ นายบุญทรง ระบุว่า จากการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับราคาสินค้า พบว่า โครงสร้างของต้นทุนและราคาสินค้า ประกอบด้วย ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายการผลิต และการจำหน่าย
โดยต้นทุนวัตถุดิบเป็นสัดส่วนหลักประมาณร้อยละ 70-90 และมีต้นทุนค่าแรงงาน สัดส่วนเพียงร้อยละ 1-5 เท่านั้น ซึ่งจากการขึ้นค่าแรงจึงมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าบางรายการ ที่กระบวนการผลิตใช้แรงงานเป็นหลัก อาทิ สินค้าเครื่องแบบนักเรียน เยื่อกระดาษ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมต้นทุนการผลิตอาจจะไม่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มค่าแรงงานก็จะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น มีการจับจ่ายสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจะลดลง นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงด้วย
ส่วนผลกระทบจากการปรับราคาสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง แทบไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า หรือหากมีผลกระทบจะมีเพียงร้อยละ 0.62 เท่านั้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตมีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง เพียงร้อยละ 0-5 ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ผู้ผลิตสินค้าจะนำมาเป็นข้ออ้างในการขอปรับขึ้นราคาสินค้า