“รมว.พาณิชย์” กระตุ้นทูตพาณิชย์ ดันสินค้าเกษตรไทยบุกตลาดโลก เล็งปรับเป้าส่งออก หลัง Q1/55 เน้นเจาะ “อาเซียน” ทดแทน “ยุโรป-สหรัฐฯ” ส่อแววทรุด ภาคธุรกิจหนาว ศก.ยุโรป แนวโน้มถดถอย ขณะที่ ธปท.แนะปิดทุกความเสี่ยงเงินบาทผันผวน
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนเองได้มอบนโยบายให้หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก ปรับการทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น โดยต่อไปไทยจะต้องเร่งเจาะตลาดไปในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมถึงผลักดันการค้ากับคู่ค้าที่ทำการค้าเสรี ทั้งจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีแนวโน้มกำลังซื้อจะชะลอตัว และทำให้ยอดการส่งออกทั้งปี 2555 เติบโตไม่ต่ำกว่าเป้าหมาย 15%
นอกจากนี้ ให้เร่งหาช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา โดยดูว่าตลาดไหนมีความต้องการสินค้าอะไร และให้ทำงานแบบบูรณาการกับทุกหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ และการปรับข้อมูลให้ทันสมัยทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่วนจะมีการปรับเป้าหมายส่งออกหรือไม่ ต้องรอประเมินตัวเลขการส่งออกไตรมาสแรกก่อน หากดีอาจปรับเพิ่มขึ้น
นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 15% แม้จะมีความผันผวนในเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในกลุ่ม 3 ประเทศหลัก สหรัฐ อียู และญี่ปุ่น ที่ยังคาดเดายากว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไร
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ทูตพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกสินค้าไทยรายตลาดปี 2555 ไว้ประกอบด้วย ตลาดอาเซียน (5 ประเทศ) ขยายตัว 15.6% อาเซียน กลุ่มซีแอลเอ็มวี ขยายตัว 35% โดยพม่าคาดว่าจะขยายตัวถึง 100% จีนขยายตัว 25% อินเดีย 20% แอฟริกา 15% ตะวันออกกลาง 12% และสหรัฐฯ 8-10%
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เชิญนักธุรกิจและนักลงทุนจากภาคส่วนต่างๆ จำนวนกว่า 100 คน เข้ารับฟังความเห็นด้านเศรษฐกิจประจำปี 2555 ซึ่งบรรยากาศในห้อง นักธุรกิจส่วนใหญ่มีความกังวลและซักถามถึงปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธปท.ประเมินว่าในกรณีที่เศรษฐกิจยุโรปตกต่ำเลวร้ายสุดจะหดตัว 1.8% ทำให้ตลาดเงินมีความผันผวนมาก คาดการณ์ได้ยาก ส่งผลให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนตาม ดังนั้น ควรปิดสถานะความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าและในทุกด้านที่ทำได้