xs
xsm
sm
md
lg

ฟุ้งจีดีพีโต 7% ล้อนโยบาย “ปู” - “โต้ง” มั่นใจไตรมาส 2 ศก.ติดเครื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กิตติรัตน์” ฟันธงจีดีพีปี 55 พุ่งกระฉูด 7.0% รับอานิสงส์นโยบายรัฐบาลขึ้นคค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% ฟื้นกำลังซื้อผู้บริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหลังภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ ยันงบประมาณปี 56 จะยังคงขาดดุลแต่วงเงินจะลดลงกว่าปี 55

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยปี 55 นี้ จะเติบโตระดับ 6.5-7% ได้ แม้ว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะชลอตัวลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากมหาอุทกภัย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร แต่มั่นใจว่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปจะเริ้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 56 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยสดใส

“ผมมองเศรษฐกิจในปี 55 นี้ ในลักษณะที่เป็นโอกาส โดยไตรมาสที่ 2 นี้จะเริ่มมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น คือ ค่าแรงขั้นต่ำที่ขยับเข้ามาใกล้ระดับ 300 บาท เรื่อยๆ ผู้มีรายได้น้อยมีกำลังซื้อมากขึ้น จะเป็นแรงเหวี่ยงให้เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง จะเห็นทิศทางของเศรษฐกิจในปี 55 ดีขึ้นอย่างชัดเจน ผมมั่นใจ”

นอกจากนี้ แม้รัฐบาลการลดภาษีนิติบุคคลลงมาที่ 23% แต่ก็ยังมั่นใจว่า ทั้งปี 55 จะจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งจากนี้มีหลางสิ่งหลายอย่างต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพื่อเดินหน้าต่อไปทางเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะเข้ามาส่งเสริมในภาคอุตสาหกรรม ถ้าเศรษฐกิจโตขึ้น จะทำให้การกระจายรายได้ทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการระบบน้ำให้ได้ และเห็นด้วยที่จะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

กงล้อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมี 4 ล้อ คือ ด้านอุปโภคบริโภคที่มั่นใจว่าจะมีมากขึ้นแน่นอน การใช้จ่ายภาครัฐที่ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายขาดดุลต่อไป การส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยืนยันว่าทั้งรัฐและเอกชนจะเดินหน้าต่อแน่นอน ซึ่งเชื่อว่า ทั้ง 4 กงล้อนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 55-56 นี้เข้มแข็งแต่ทั้งนี้ การเมืองต้องมีเสถียรภาพด้วย

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า นอกจากการเตรียมกู้เงินเพื่อกำหนดโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำแล้ว รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินในการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติอีก 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมกันคิดเป็นเงินถึง 4 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาเงินกู้เดิมที่มีอยู่แล้วว่า มีการบริหารจัดการที่ดีหรือไม่ เพราะยังมีหนี้ก้อนโตถึง 1.4 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมาหลายปีแต่ยอดหนี้ลดลงเพียง 1.6 แสนล้านบาท จึงเหลือยอดหนี้ค้างถึง 1.14 ล้านล้านบาท หากสามารถบริหารจัดการหนี้ส่วนนี้ได้ ก็จะมีงบประมาณเพื่อการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่จะไม่เป็นภาระต่องบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายปี 55 ที่ตั้งงบประมาณจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ 1.7 แสนล้านบาทหากรวมหนี้ที่จะครบกำหนดชำระอีกกว่า 2.5 แสนล้านบาท จึงต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น

ขณะเดียวกัน ในปีงบประมาณ 55 รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขการขาดดุลงบประมาณที่สอดคล้องกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้อนุมัติไว้ ดังนั้น การกู้เงินจึงไม่ใช่แค่เพียงการบริหารจัดการน้ำเท่านั้น และในปีงบประมาณ 56 รัฐบาลเองอยู่ระหว่างจัดทำงบประมาณอย่างเข้มข้นเพื่อให้ประกาศใช้ทันเดือน ต.ค.ปีนี้ ซึ่งในหลักการจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในระดับหนึ่งแต่จะให้น้อยลง

ยอดการขาดดุลงบประมาณเหล่านี้จะผูกพันหากไม่บริหารจัดการหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ก็จะถูกประเมินจากวงการการเงินว่าเป็นการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่เหมาะสมและจะไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น

“ในระหว่างที่ร่าง พ.ร.ก.2 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแต่ยังมีอีก 2 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภาไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายควบคู่กันไป โดยในส่วนของ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555 ก็จะประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำรวมถึงดำเนินการตั้งคณะกรรมการกองทุนภัยพิบัติตาม พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 เพื่อให้มีผลและให้ภาคธุรกิจสามารถทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยได้”

สำหรับปัญหาการปล่อยสินเชื่อแก่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำนั้น รัฐบาลจะเร่งหาทางออกข้อติดขัดโดยเร็ว กรณีที่รัฐบาลจะสนับสนุนทางการเงินช่วยเหลือจำนวน 2 ใน 3 ของวงเงินสินเชื่อเพื่อลดภาระผู้ประกอบการจากปัจจุบันที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายแต่ผู้ประกอบการเองสามารถกู้โดยตรงจากออมสินได้ 1 ใน 3 ขอให้ธนาคารออมสินเร่งดำเนินการอำนวยสินเชื่อส่วนนี้ไปก่อนเพื่อให้เกิดการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น