xs
xsm
sm
md
lg

"โต้ง"เล็งทำงบสมดุล ประเดิมลดขาดดุลปี56 โต้ฝ่ายค้าน พ.ร.ก.กู้เงินจำเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"กิตติรัตน์" เล็งจัดทำงบประมาณสมดุล ประเดิมลดขาดดุลงบประมาณปี 56 ลงน้อยกว่าปี 55 แต่ขอประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกก่อนตัดสินใจ พร้อมโต้ฝ่ายค้านกู้เงินลงทุนป้องน้ำท่วม 3.5 แสนล้านมีความจำแร่งด่วนแต่ยันไม่กู้เงินมากองไว้แน่นอน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ในหลักการของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ที่กำลังจะดำเนินการนั้น รัฐบาลมีความตั้งใจจะให้การกู้เงินชดเชยขาดดุลงบประมาณลดลงเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2555 และสอดคล้องกับที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าในท้ายที่สุดจะเข้าสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลได้ในที่สุด

"เราอยากให้การทำงบประมาณแบบสมดุลเกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ขอดูภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย เพราะงบประมาณขาดดุลจะเป็นกลไกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจปัจจัยหนึ่งนอกเหนือจากการบริโภค การลงทุนและการส่งออก ถ้า 3 กลไกลดังกล่าวทำงานได้ดีก็สามารถลดการขาดดุลลงได้แต่ถ้า 3 ปัจจัยชะลอตัวลงงบประมาณภาครัฐก็ต้องเป็นตัวนำ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูงคงมองไปถึงระยะยาวไม่ได้" นายกิตติรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญของการเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพราะที่ผ่านมาตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สัดส่วนของงบลงทุนปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไม่เดินหน้าเท่าที่ควร โดยในระยะปานกลางถึงระยะยาวสัดส่วนงบลงทุนควรอยู่ที่ 25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15-16%

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านมองว่าโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำที่ออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องลงทุนทั้งหมดในปีนี้นั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวยืนยันว่าโครงการลงทุนป้องกันน้ำท่วมถือมีความจำเป็นเร่งด่วน และต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความพร้อมจะลงทุนจริง

" ข้อกังวลที่ว่าการเอาเงินมากองไม่ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแต่การอนุมัติวงเงินไว้และประกาศว่าเราจะลงทุน 3.5 แสนล้านบาทน่าจะเป็นการสร้างความชัดเจนและเดินหน้าโครงการได้โดยเร็วและให้สอดคล้องกันน่าจะเหมาะสมแล้ว เพราะยังต้องมีขั้นตอนกระบวนการอีกมาก อย่างโครงการก็มีการเตรียมไว้เบื้องต้นแล้วแต่รอให้พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้สมบูรณ์จึงจะเร่งเดินหน้าทันที "นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ออกพันธบัตรกู้เงินมากองไว้ทั้งจำนวน เพราะพ.ร.ก.เปิดช่องให้ทยอยออกได้จนถึงเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งการลงทุนป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาทนั้นนักวิชาการบางประเทศยังมองว่าน้อยไปด้วยซ้ำ โดยหากจะให้ระบบบริหารจัดการน้ำออกมาดีที่สุดต้องใช้เงินถึง 8 แสนล้านบาทแต่วงเงินอาจจะสูงเกินไปหากเทียบกับสถานการณ์ในขณะนี้ ส่วนโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำที่อยู่ในงบประมาณปี 2555 นี้รัฐบาลตั้งเป้าต้องมีการเบิกจ่ายทั้ง 100% แม้ว่าจะมีเวลาเหลืออีกไม่กี่เดือนก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น