“สรรพสามิต” ส่งสัญญาณเลิกอุ้มดีเซล หลังมาตรการสิ้นสุด 29 ก.พ.นี้ “เบญจา” ครวญใช้เงินภาษีอุ้มน้ำมัน ส่งผลให้รัฐสูญรายได้หนัก หวั่นกระทบเป้าจัดเก็บงบปี 55 ลุ้นนโยบายรัฐบาลต่อหรือไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซลที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนนี้
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีด้านพลังงาน โดยระบุว่าตนเองเตรียมเข้าหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่คาดว่าจะมากำกับดูแล กรมสรรพสามิต โดยจะพิจารณาการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งในขณะนี้ลดลงเหลือ 0.005 บาท/ลิตร จากที่เก็บอยู่ 5.31 บาท/ลิตร และมีกำหนดถึง 29 กุมภาพันธ์ 2555 โดยการลดภาษีดีเซลดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ตั้งแต่ช่วงเดือน เมษายน 2554 และได้รับการต่ออายุมาหลายครั้ง ซึ่งทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้จากการลดภาษีน้ำมันดีเซลประมาณเดือนละ 9,000 ล้านบาท หรือรวมแล้วทำให้กรมสูญเสียรายได้แล้ว 90,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากดูแค่ปีงบประมาณ 2555 ที่ต้องลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ตั้งแต่ 1 ตุลาคม ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นเวลา 5 เดือน ทำให้กรมฯ สูญเสียรายได้ 45,000 ล้านบาท หากรัฐบาลต่ออายุภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก จะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีของกรมฯในปี 2555 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 4.05 แสนล้านบาท
“กระทรวงการคลังคงต้องปรับลดเป้าหมายรายได้ของกรม ในปีงบประมาณ 2555 ที่วางไว้ 4.05 แสนล้านบาทลง เพราะเป้าหมายดังกล่าวอยู่ในสมมุติฐานที่ว่าภาษีดีเซลจะต้องเก็บในระดับปกติ 5.31 บาท/ลิตร ในช่วงเดือนม.ค. 2555 แต่ขณะนี้การลดภาษีดีเซลลากยาวมาถึงเดือน ก.พ. 2555 และไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะต่ออายุการลดภาษีดีเซลต่อไปอีกหรือไม่”
นางเบญจากล่าวอีกว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2555 (ต.ค.-ธ.ค. 2554) กรมมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี 83,188 ล้านบาท หรือลดลงจากเป้าหมาย 1,715 ล้านบาท หรือลดลง 2.02% จากเป้าหมายตั้งไว้ที่ 84,903 ล้านบาท และลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมาถึง 28,649 ล้านบาทหรือลดลง 25.62% จากปีที่ผ่านมาจัดเก็บได้ 111,837 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลทำให้การจัดเก็บภาษีจากน้ำมันลดลง 62.4% ประกอบกับปีนี้ไทยเจอปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน ส่งผลให้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ปรับลดลงที่เคยประเมินไว้ถึง 32.2%
อย่างไรก็ตาม หากดูในภาพรวมภาษีพบว่าในหมวดเครื่องดื่ม และยาสูบสามารถเก็บได้เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ภาษียาสูบ เก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,466 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.5% ภาษีสุรา เก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,093 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% เบียร์สูงกว่าประมาณการ 996 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.5% เครื่องดื่มสูงกว่าประมาณการ 456 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.4% ซึ่งเกิดจากผู้จำหน่ายเร่งซื้อไปทดแทนสต็อกที่ไม่สามารถสั่งซื้อได้ในช่วงน้ำท่วม ทั้งนี้คาดว่าหลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วมเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว การจัดเก็บภาษีของกรมจะเริ่มดีขึ้น