หอการค้าฯ คาดส่งออก Q1 ปี 55 ติดลบ 11.2% ต่ำสุดในรอบ 30 เดือน หลังโดนผลกระทบน้ำท่วม พร้อมคาด Q2 มีสัญญาณฟื้นตัว หลังภาคการผลิตกลับมาเดินเครื่องได้เต็มที่
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาอุทกภัยปีที่ผ่านมา กระทบต่อภาพรวมการส่งออกปี 2554 ประมาณ 13,000-16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นอัตราการส่งออกเติบโตลดลง 6.8-8.3% ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกตลอดปี 2554 ขยายตัวเพียง 16.9% และคาดการณ์ว่า จะส่งผลให้การส่งออกปี 2555 ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัว 6.8-13.7% หรือคิดเป็นมูลค่า 240,000-259,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 30 เดือน
ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.38% (แต่ทั้งนี้ หากปัญหาเศรษฐกิจยุโรปไม่สามารถแก้ไขได้ และลุกลามจนเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียง 0.78-1.38% จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกไทยถึงขั้นหดตัวอยู่ที่ -3.13 - 4.28%) การส่งออกในปี 2555 ตลาดใหม่ เช่น จีน อินเดีย อาเซียนใหม่ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) อเมริกาใต้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญโดยขยายตัว 14.4% ในขณะที่ตลาดเก่าดั้งเดิมอย่าง สหรัฐฯ และยุโรป ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจจะขยายตัว 7.8%
สำหรับในส่วนของตลาดยุโรป คาดว่า ในปี 2555 ไทยจะประสบปัญหาค่อนข้างมากมีโอกาสที่การส่งออกไปตลาดยุโรปจะหดตัว ผู้ส่งออกไทยจะประสบปัญหาทั้งในด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ รวมถึงคู่ค้าอาจมีการเลื่อนชำระ เนื่องจากปัญหาทางการเงินที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องวางแผนรับมือ รวมถึงขยายตลาดให้กว้าขึ้น โดยเฉพาะตลาดในเอเชีย
โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี การส่งออกจะหดตัวอย่างรุนแรงจากปัจจัยน้ำท่วมในประเทศ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจยุโรป โดยไตรมาส 1/2555 คาดว่า การส่งออกหดตัวต่อ เนื่องจากไตรมาส 4/2554 โดยหดตัว -11.2 ถึง -6.2% (ขยายตัว -8.7% ที่ค่าความน่าจะเป็นสูงสุด) หรือเป็นมูลค่า 50,504-53,348 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่หดตัวประมาณ -6.8% ในไตรมาส 4/2554 ซึ่งเป็นการส่งออกที่หดตัวต่ำสุดในรอบ 10 ไตรมาส นับจากไตรมาส 4/2552 หลังจากช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ อย่างไรก็ตาม หลังไตรมาส 2/2555 การส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากการที่ภาคการผลิตสามารถกลับมาผลิตได้เต็มที่ 90-100%
สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะไม่สดใส และมีแนวโน้มชะลอตัวมากถึงขั้นหดตัว ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์และรองเท้า ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่ามีโอกาสขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ และชิ้นส่วน ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ข้าว อาหารกระป๋องและแปรรูป มันสำปะหลัง ขณะที่ปัญหาภัยธรรมชาติจะส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรโดยรวมมีราคาเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดใหม่ของไทย เช่น จีน อินเดีย อาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม อเมริกาใต้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ คาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 14.4 ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ ทิศทางราคาน้ำมัน การขึ้นค่าแรง ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ภัยธรรมชาติ และการเมือง
ด้านปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยที่สำคัญในปี 2555 ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะเสี่ยง จากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโร ซึ่งขยายวงกว้างและมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะกระทบต่อประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจและลุกลามให้เศรษฐกิจโลกแย่ลงตามไปด้วย
2.ต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของโลจิสติดส์ และต้นทุนการผลิต โดยต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดย U.S. Energy Information Administration (EIA) คาดว่า ราคาน้ำมันWest Texas intermediate (WTI) ในปี 2555 จะปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.4 อยู่ที่ระดับ 98.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับ 94.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2554 ประกอบกับนโยบายการปรับขึ้นราคาพลังงานภาคขนส่งในปี 2555 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จากนโยบายขึ้นค่าแรงของรัฐบาล และนโยบายการปรับราคาเชื่อเพลิงธรรมชาติ (LPG) ในภาคอุตสาหกรรม
3.ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยมากขึ้น และปัญหาน้ำท่วมกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และ 4.ความมั่นคงทางการเมือง