xs
xsm
sm
md
lg

“สภาพัฒน์-ทีดีอาร์ไอ” ระบุ แผนบริหารจัดการน้ำ ชี้ชะตาการลงทุนปี 55

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สภาพัฒน์” ห่วงหลังน้ำลด ปชช.หนี้ท่วมหัว แนะจับตาปัญหาหนี้สาธารณะ พร้อมชี้ช่อง “คลัง” ควรทำแผนก่อหนี้ให้ชัด “ส่งออก” เร่งแจงนักลงทุน เพื่อฟื้นเชื่อมั่น “ทีดีอาร์ไอ” เผย ต่างชาติจับตาแผนบริหารจัดการน้ำ และความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นตัวแปรสำคัญที่จะกระทบต่อการลงทุน ผู้ช่วย รมต.อุตฯ ยอมรับ ผู้ประกอบการนิคมฯ เมินกู้เงินฟื้นฟู 1.5 หมื่นล้าน เพื่อทำคันกั้นน้ำ เพราะไม่มั่นใจแผนบริหารจัดการของรัฐบาล หวั่นปีหน้าน้ำท่วมซ้ำ อาจต้องเสียเงินเปล่าประโยชน์ ด้านบอร์ด “บีโอไอ” เร่งออกมาตรการช่วยโรงงานจมน้ำ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2555 โดยมองว่าจะขยายตัวในอัตรา 4.5-5.5% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมของรัฐบาล ซึ่งจะมีการลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำ และคาดว่า ทั้งนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานต่างๆ จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาผลิตมากกว่า 80% ในช่วงเดือน ม.ค.2555

“ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในปี 2555 คือ ปัญหาหนี้สาธารณะ ซึ่งกระทรวงการคลังจำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการก่อหนี้ และการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมต้องสมเหตุสมผล มีการจัดอันดับความสำคัญทั้งสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน หรือต้องทำในระยะยาว ส่วนด้านการเงินภาคเอกชนเองจำเป็นต้องดูแลตัวเองด้วย”

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ในส่วนของปัจจัยภายนอกยังคงเป็นปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปและเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าในปีหน้าเศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่จีนก็เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว จากการลดลงของราคาบ้าน ส่วนปัจจัยภายในประเทศยังคงต้องจับตาเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งต่างชาติให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งกระทบต่อการลงทุน

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ประมาณปลายเดือนมกราคม 2555 กรมจะเชิญคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ และองค์การความร่วมมือระหว่าประเทศของญี่ปุ่น (ไจกา) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาน้ำในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ มาชี้แจงทำความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนประมาณ 2,000 ราย ที่จะเชิญเข้าร่วมงาน

นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมยังมีความกังวลเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ว่า จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำอีกในปีต่อไปหรือไม่ ทำให้บางรายไม่ต้องการกู้เงิน เพื่อสร้างคันกั้นน้ำแล้ว เพราะหากมีการลงทุนสร้างคันกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรมแต่บริเวณพื้นที่ภายนอกต้องถูกน้ำท่วม ก็ส่งผลกระทบให้คนงานไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ และโรงงานก็ไม่สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายได้เช่นเดียวกันทำให้มองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า จึงไม่สนใจที่จะยื่นขอกู้ดังกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังประสบปัญหาการกู้เงิน ที่รัฐบาลช่วยเหลือวงเงินกว่า 2.1 แสนล้านบาทอัตราดอกเบี้ย 3% คงที่ 3 ปี โดยเบิกจ่ายผ่านธนาคารพาณิชย์15-16 แห่ง แต่ปรากฏว่า เกิดความล่าช้าโดยธนาคารพาณิชย์บางแห่งระบุว่าหากต้องการกู้ ได้เงินเร็วจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 4%ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลกำหนด

“รัฐบาลมีวงเงินกู้ 2.1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีแต่ตอนนี้ได้ยินเสียงบ่นของผู้ประกอบการหลายรายว่ามีการปล่อยกู้ล่าช้า โดยบางธนาคารแจ้งว่าหากอยากได้เงินเร็วก็จะคิดดอกเบี้ย 4% แต่ถ้าเป็นดอกเบี้ย 3% ต้องรอนานหน่อยซึ่งรัฐบาลจะหารือกับธนาคารพาณิชย์โดย เร็ว เพราะไม่ควรใช้โอกาสนี้ในการเตะถ่วงปล่อยกู้ซึ่งเป็นแบบนี้ไม่ดี ทำให้การฟื้นฟูกิจการล่าช้าไปด้วย เพราะสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงครั้งนี้ทำให้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่หมดตัวจริงๆ”

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอได้อนุมัติการยกเว้นภาษีอาการขาเข้าเครื่องจักรและอะไหล่ให้โรงงานที่ถูกน้ำท่วมที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหายแล้ว 60 โครงการ วงเงิน 9,194 ล้านบาท และในวันที่ 29 ธันวาคม 2554 นี้ การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจะพิจารณาการเว้นภาษีนิติบุคคลอีก 8 ปีเพื่อเร่งทำการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงานที่ถูกน้ำท่วม รวมทั้งให้เว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับนิคมอุตสาหกรรมที่สร้างเขื่อนล้อมรอบด้วย

ทั้งนี้ จากน้ำท่วมส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมปรับตัวโดยกระจายความเสี่ยงป้อนการผลิตสินค้าให้กับผู้ผลิต (ซัปพลายเออร์) อื่นแทนด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่มีการย้ายฐานการผลิตเพราะส่วนใหญ่กังวลว่าการไปลงทุนในที่ใหม่อาจใช้เวลาในการฟื้นตัวช้า

นางอรรชกา กล่าวเสริมว่า แม้โรงงานจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่สามารถผลิตสินค้าได้จำนวน แต่ปรากฎว่ากลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) พุ่งจนไม่สามารถผลิตเครื่องจักรได้ทันความต้องการที่เร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น