xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์”เล็งเสนอแผนฟื้นฟูภาคธุรกิจ จัดหาแหล่งทุน-ช่วยทางภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพาณิชย์
“กิตติรัตน์” เผยผล หารือร่วมนายกฯ ภาคเอกชน เตรียมเสนอมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ เตรียมวงเงินให้กู้ซื้อ-ซ่อมเครื่องจักร พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์หักลดหย่อนภาษี ขอเงินสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร ดัน “ยิ่งลักษณฺ” เป็นประธานศูนย์ประสานงานฟื้นฟูฯ ดูแลภาพใหญ่

วันที่ 23 ต.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาอุทกภัย ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า เราได้มีแนวทางเบื้องต้นในการดึงภาคอุตสาหกรรมกลับมาสู่การผลิตให้เร็วที่สุด โดยขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคสถาบันการเงิน ด้วยความเข้าใจที่ดีของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการจัดเตรียมวงเงินที่มากเพียงพอให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ลงทุนในการซื้อและซ่อมเครื่องจักร รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบได้มีเงินทุนที่เพียงพอที่จะสร้างระบบพื้นฐาน ที่จะปกป้องไม่ให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทั้งในปีหน้าและปีต่อๆ ไป

นอกจากนั้นกระทรวงการคลังได้พิจารณาหลักการที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่จะสามารถนำเอาผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากภาวะต่างๆ นำไปหักลดหย่อนได้ในระยะเวลาที่ยาวขึ้น รวมทั้งแนวทางที่จะจัดงบประมาณเพื่อที่จะสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อ การค้ำประกันสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกันกับผู้ประกอบการ โดยจะประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งจะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ผ่อนปรนพิเศษ รวมทั้งเงื่อนไขในการชำระเงินต้นต่างๆ ก็จะมีการผ่อนปรนในระดับที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น

นายกิตติรัตน์กล่าวว่าในการหารือครั้งนี้ได้มีการขอความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ซึ่งได้แนวทางที่นายกฯ ได้บัญชาการให้หน่วยงานทั้งภาคารัฐและเอกชนให้ความสำคัญในการทำงานเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และทำงานแข่งกับเวลาโดยมีกำหนดว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคาร(25ต.ค.)นี้ จะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาว่าวงเงินที่เตรียมไว้นั้นมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน การค้ำประกันสินเชื่อต่างๆ ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะอยู่ในระดับใด โดยนายกฯ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอซึ่งให้แนวทางว่าเนื่องจากผู้ประกอบการที่ดำเนินการอยู่มีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและแนวทางได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ แต่ว่ามาเกิดเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ ที่อยู่ตรงกลางระหว่างการที่เราจะขยายระยะเวลาในการที่จะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้ ควรจะมีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการว่า ในประเทศไทย ภาคเอกชนที่ได้รับผลจากภัยพิบัติธรรมชาติจะได้รับการดูแลจากรัฐบาลอย่างจริงจัง

คุยตลาดหลักทรัพย์ให้สนับสนุนเงิน

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้( 24 ต.ค. ) ช่วงเช้าที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตนและประธานสภาอุตสาหกรรมจะไปร่วมประชุม โดยจะลงรายละเอียด ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ประสานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะให้การสนับสนุนเงินเบื้องต้นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ,บริษัทจดทะเบียน, บริษัทหลักทรัพย์ ในวงเงิน 250 ล้านบาท ซึ่งสามารถขยายเพิ่มได้อีกเป็น 500 ล้านบาทเพื่อเป็นการลงทุนจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมขั้นต้น ซึ่งตนจะประชุมกับผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง และผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการดำเนินการให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้แผนการเยียวยาฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมดังที่กล่าวข้างต้น จะสรุปเป็นแนวทางที่ชัดเจนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้

เสนอยกเว้นภาษีเครื่องจักรนำเข้า

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า เรามีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาน้ำท่วม หรือยังไม่ท่วมนั้นที่ต้องเร่งนำเครื่องจักรออกจากสถานที่ประกอบการ หรือวัตถุดิบให้สามารถย้ายได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาต หรือการนำเข้าอุปกรณ์หรือวัตถุดิบก็จะให้สามารถยกเว้นภาษีเงินได้ ให้นำเข้ามารวดเร็วและอะไหล่ที่ต้องมามาซ่อมแซมด้วย นอกจากนี้สำหรับวัตถุดิบที่เสียหายแล้วก็จะให้ยกเว้นภาษีนำเข้าได้ กรณีที่ต้องนำช่างฝีมือ หรือผู้ชำนาญการจากต่างประเทศเข้ามาสำรวจเครื่องจักรที่เสียหาย การออกวีซ่าทางบีโอไอก็จะดูแลให้เป็นพิเศษ มีมาตรการดูแล คาดว่าจะมีการนำช่างฝีมือเข้ามาจำนวนมาก

ส่วนมาตรการที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่จะเยียวยาผู้ประกอบการที่ต้องลงทุนใหม่ เพราะถึงแม้เครื่องจักรซ่อมแซมได้ แต่อิเล็กทรอนิกส์จมน้ำแล้วโอกาสซ่อมแซมยาก ต้องลงทุนใหม่ จึงมีมาตรการเรื่องนำเครื่องจักรเข้ามาใหม่ ให้ยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กำลังจะเสนอให้พิเศษอย่างไร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างความมั่นใจ สำหรับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม กำลังเสนอมาตรการที่จะให้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกัน เพื่อกระตุ้นให้ดำเนินการลงทุนสาธารณูปโภคหรือมาตรการป้องกันน้ำท่วมเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่อยู่ในนิคมฯ ต่อไป

เสนอนายกฯ เป็นประธานศูนย์ประสานงานพื้นฟูภาคธุรกิจ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้เสนอรัฐบาลให้ติดต่อรัฐบาลประเทศอื่น ที่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้ เช่น จีน ญี่ปุ่น ในการส่งผู้เชี่ยวชาญ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่พอช่วยเหลือประเทศไทยในการแก้ไขปัญหานี้ ส่วนเรื่องการฟื้นฟูภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาหนักเช่นนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มีการหารือและเสนอตั้งศูนย์ประสานงานที่จะฟื้นฟูภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ จะทำอย่างไรให้เกิดการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว ระหว่างน้ำลดคงต้องการกำลังพลเข้าไปดำเนินการทำความสะอาด บูรณะซ่อมแซม เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ จึงอยากให้มีการตั้งศูนย์ให้เบ็ดเสร็จในแต่ละพื้นที่ แต่ละนิคมฯ ถ้าเป็นไปได้อยากให้นายกฯ เป็นประธานในแง่ภาพใหญ่ เพราะความร่วมมือจะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานอาจจะ 20-30 หน่วยงาน ไม่ว่าจะมีการระดมนักเรียนอาชีวะ นิสิตนักศึกษา รวมทั้งอาสาสมัครนอกพื้นที่น้ำท่วม ภาคเอกชน ที่บริษัทหยุดการผลิต มาระดมการฟื้นฟูประเทศให้กลับมาให้เร็วที่สุด

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องเงินทุนต่างๆ รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ ในขั้นต้นมั่นใจได้ว่าจะมีเงินเพียงพอที่จะมาฟื้นฟู ทำให้เศรษฐกิจของเรากลับมารวดเร็ว สำหรับสิ่งที่ภาคเอกชนทั้งผู้ลงทุนไทยและต่างชาติ ที่มีความกังวลใจเรื่องแผนระยะสั้น ระยะยาว จะเป็นอย่างไร เพราะการฟื้นฟูต้องใช้เวลาหลายเดือน และปีหน้าฝนจะมาอีกจึงต้องมีมาตรการระยะสั้น –ยาวอย่างไร คงต้องเป็นวาระของชาติในการจัดการน้ำ การทำแผนระยะยาวคงใช้เวลาหลายปี จึงต้องมีแผนระยะสั้นก่อนว่าจะทำให้ปีหน้าไม่มีปัญหา หากทำได้ผู้ลงทุนจะเห็นประสิทธิภาพการฟื้นฟู ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น