xs
xsm
sm
md
lg

เผยต่างชาติกังวลปัญหาการเมือง แต่ยังไม่มีใครถอนการลงทุนในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บีโอไอ” เผย ผลสำรวจนักลงทุนต่างชาติ กังวลปัญหาการเมือง เศรษฐกิจโลก และค่าจ้างที่สูงเกินไป แต่ยังไม่มีใครถอนการลงทุน พบกว่าครึ่งยืนยันเดินหน้าลงทุนต่อ ขณะที่มาเลย์แซงหน้าเพราะมีศักยภาพสูงกว่าในการดึงดูดการลงทุน

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการศึกษาและวิเคราะห์ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ประจำปี 2554 ระหว่างเดือน ก.พ-มิ.ย.มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 404 บริษัท พบว่า ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนกังวลในการเข้ามาลงทุนในเมืองไทย นักลงทุน 71.3% กังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง 57.8% ภาวะเศรษฐกิจโลก และ 36.7% ค่าจ้างที่สูงเกินไป ขณะที่ปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ได้แก่ 71.1% สิทธิประโยชน์ มาตรการสนับสนุน 61.5% โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ 61.9% อัตราค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับทักษะแรงงาน

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน และจีน อินเดีย ในด้านปัจจัยการผลิต แหล่งที่มาการลงทุน สถานะภาพทางเศรษฐกิจ และกฎระเบียบข้อบังคับ ไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ และมีความสามารถสูงกว่าประเทศอื่นๆ แต่ในบางเรื่องมาเลเซีย เริ่มตามติดไทยเข้ามา และมีความสามารถสูงกว่าไทย โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบการสื่อสารโทรคมนาคม การคมนาคมขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ ที่มาเลเซียมีศักยภาพสูงกว่า

นอกจากนี้ ในเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับ เช่น เรื่องความแน่นอนของนโยบายรัฐบาล ความโปร่งใสของรัฐบาล มาเลเซีย และจีน อยู่เหนือกว่าไทย ขณะที่สถานภาพทางเศรษฐกิจ เช่น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ ของมาเลเซีย และจีน มีความมั่งคงสูงกว่าของไทย ส่วนความต้องการซื้อในประเทศไทยเทียบกับจีน และอินเดียไม่ได้อยู่แล้ว

“จุดอ่อนของไทย อยู่ที่ความยุ่งยากในการดำเนินงานเพื่อส่งออกสินค้า และการนำเข้าวัตถุดิบ รวมทั้งแนวทางในการกำหนดนโยบายที่แตกต่างกันตามคณะรัฐบาลที่บริหารประเทศ และเสถียรภาพทางการเมือง”

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจนักลงทุนในปี 2554-2555 ไม่มีนักลงทุนต่างชาติรายใดมีแผนจะถอนการลงทุนออกจากประเทศไทย โดยนักลงทุนต่างชาติ 49.8% ยังวางแผนรักษาระดับการลงทุนในประเทศไทยเท่ากับปัจจุบัน ขณะที่อีก 46.8% มีเป้าหมายจะขยายกิจการเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มที่มีแผนจะขยายกิจการในประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ มีแผนจะขยายกิจการเล็กน้อย 29% และมีแผนจะขยายกิจการอย่างมาก 17.8% เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ โลหะ เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่นักลงทุน 3.5% หรือคิดเป็น 11 ราย จาก 404 ราย มีแผนที่จะลดขนาดการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา เช่น ส่งทอ เครื่องประดับ และเครื่องหนัง เป็นต้น เนื่องจากอุตสาหกรรมในกลุ่มดังกล่าวมีขีดความสามารถที่ลดลง และประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ทั้งนี้ เชื่อว่า ในปีนี้ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท ส่วนแนวโน้มในปีนี้การลงทุนในไทยน่าจะรักษาระดับได้ดีต่อไป เพราะมีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ทั้งนักลงทุนจีน ที่สนใจเข้ามาสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ เกาหลี ญี่ปุ่น โดยเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ถดถอยรุนแรง ไม่น่าจะกระทบต่อการลงทุนของนักลงทุน
สำหรับข้อเสนอแนะของนักลงทุน ได้แก่ ต้องการให้รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาให้นักลงทุน ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ สร้างเสริมภาพลักษณ์ด้านความซื้อสัตย์ สร้างความปรองดองในการทำงาน และส่งเสริมศักยภาพด้านภาษา
กำลังโหลดความคิดเห็น