xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” ลั่น ศก.ปีหน้า โตเกิน 7% ยอดบีโอไอทะลุ 6 แสนล.แนะกู้ภาคการผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กิตติรัตน์” มั่นใจปีหน้า ศก.ไทย โตได้กว่า 7% โดยมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นและการฟื้นฟู หลังน้ำท่วม ยันจะบริหารจัดการอย่างโปร่งใส “เครดิตสวิส” ชี้ เงื่อนไขกำหนด ศก.ปีหน้า การผลิตที่เสียหายจากน้ำท่วม ต้องคืนมาทั้งหมดในไตรมาสแรก “วรรณรัตน์” ยันนักลงทุนนอกเมินน้ำท่วม ยอดลงทุนบีโอไอ 11 เดือน พุ่งทะลุ 6 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุน 90% ลุ้นปีหน้าแตะ 7 แสนล้าน “อรรชกา” ปลื้ม พ.ย.ยื่นขอส่งเสริมลงทุนสูงสุด สะท้อนความเชื่อมั่นลงทุนในไทย



นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2555 โดยระบุว่า หน่วยงานสำคัญหลายแห่งประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโต 5.5% แต่ตนมองว่าจะเติบโต 7% เนื่องจากการดำเนินนโยบายรัฐบาล เช่น การเพิ่มรายได้เกษตรการเพิ่มค่าแรง และการลงทุนฟื้นฟูหลังน้ำลดที่จะเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปีหน้า เป็นต้นไป

ส่วนภาคการส่งออกนั้น นายกิตติรัตน์ คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศให้กลับมา ซึ่งการลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานต่างๆ รัฐบาลจะดูแลไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเน้นการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้สร้างเสถียรภาพราคาสินค้า ขณะที่อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่ผันผวนเกินไป ซึ่งตนมั่นใจว่านโยบายของรัฐบาลนี้จะลดจำนวนคนจนได้มาก เช่น นโยบายเพิ่มค่าจ้างที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ครัวเรือนไม่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการกู้เงิน

นายกิตติรัตน์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้า ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณ 329 โครงการ วงเงิน 332 ล้านบาท เพื่อให้ 3 องค์กร คือ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ใช้ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ทั้ง 3 องค์กรพิจารณาอีก 38 โครงการ งบประมาณ 40 ล้านบาท นำมาเสนออีกครั้งในวันที่ 27 ธ.ค.54 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญในกิจกรรมการส่งเสริมการค้าร่วมกับภาคเอกชนอย่างมาก และจะช่วยแก้ปัญหาข้อกังวลใจว่าการส่งออกมีการชะลอตัว ยืนยันว่าการส่งออกปีนี้ยังตั้งเป้าอยู่ที่ 15% และมั่นใจว่า กำลังการผลิตที่เสียหายจากน้ำท่วมจะกลับมา 90% ก่อนสิ้นปีนี้

นายสันติธาน เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ เอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) จาก เครดิต สวิส เอจี (ประเทศสิงคโปร์) กล่าวว่า จากการที่หลายฝ่าย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะเติบโต 4.8-5.0% อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากการเติบโตในระดับดังกล่าว ในทุกไตรมาสเศรษฐกิจไทยต้องเติบโตเฉลี่ยต่อเนื่องไตรมาสละ 2% และต้องได้กำลังการผลิตที่สูญเสียไปจากน้ำท่วมคืนมาทั้งหมดในไตรมาสแรกของปี 2555 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสภาพแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปัจจัยไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ ดังนั้น ในปี 2555 อาจจะเห็นธนาคารแห่งประเทสไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเหลือ 2.5% ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ประเทศไทยคงจะหวังพึ่งการส่งออกมากไม่ได้ จะต้องหันมามุ่งเน้นในเรื่องการเติบโตด้วยการใช้จ่ายในประเทศแทน โดยเฉพาะการลงทุนที่แทบไม่มีเพิ่มขึ้นเลยหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาแม้การส่งออกของไทยจะเติบโตดี แต่เศรษฐกิจไทยกลับเติบโตได้ไม่ดีนัก โดยปัญหาสำคัญ คือ การลงทุนที่ลดลง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับที่ต่ำกว่าควรจะเป็น

ขณะที่สถานการณ์ในเรื่องการท่องเที่ยวนั้น นายมาร์ติน เคล็กส์ ประธานสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (พาต้า) กล่าวว่า ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวจากภาวะต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะไทยมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย และบริษัททัวร์ของไทยยังมีประสบการณ์มากมายในการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้กระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของไทยดังนั้น เชื่อว่าการท่องเที่ยวของไทยจะฟิ้นตัวได้เร็ว ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่จะฟื้นตัวมากน้อยแค่ไหน

ด้าน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การลงทุน 11 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) มีโครงการลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 1,630 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 6.15 แสนล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 77% และสูงกว่าเป้าหมาย ที่ตั้งไว้เพียง 5 แสนล้านบาท คาดว่า ปี 2555 จะได้ถึง 6-7 แสนล้านบาท

กลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค 376 โครงการ 2.46 แสนล้านบาท อาทิ กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ และทางอากาศ เป็นต้น

กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน มี 424 โครงการ 1.18 แสนล้านบาท ได้แก่กิจการผลิตยางรถยนต์ ชิ้นส่วนอะลูมิเนียม และผลิตเครื่องจักรเครื่องกลึง เป็นต้น รองลงมาเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 229 โครงการ 7.56 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนแผงวงจรรวม เป็นต้น

กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระดาษและพลาสติก 191 โครงการ 7.31 หมื่นล้านบาท เกษตรและผลิตผลการเกษตร 257 โครงการ 6.05 หมื่นล้านบาท

ด้านการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ 11 เดือน พบว่า มี 921 โครงการ 3.54 แสนล้านบาท มูลค่าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 77% โดยญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนกลุ่มหลักของไทย ยื่นขอรับส่งเสริม 496 โครงการ 1.68 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 90% รองลงมา คือ จีน 131 โครงการ 2.6 หมื่นล้านบาท สิงคโปร์ 48 โครงการ 2.28 หมื่นล้านบาท ฮ่องกง 29 โครงการ 1.25 หมื่นล้านบาท และเกาหลีใต้ 37 โครงการ 7,584 ล้านบาท

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยอดขอบีโอไอเดือน พ.ย.สูงนั้น เนื่องจากชะลอการยื่นโครงการจากเดือน ต.ค.เป็นช่วงที่เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ภาพรวมนักลงทุนส่วนใหญ่ยังสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้า และโครงการที่ยื่นบางส่วนก็อยู่ในเขตอุตสาหกรรมโรจนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น