ASTVผู้จัดการ – “แอร์บัส” ยืนยันสามารถส่งมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ380-800 ลำแรกจากที่สั่งทั้งหมด 6 ลำให้กับ “การบินไทย” ได้ในช่วงกลางปี 2555 โดยปัจจุบันอยู่ในสายการประกอบขั้นสุดท้ายที่เมืองตูลูส ฝรั่งเศส ก่อนช่วงปีใหม่จะบินไปพ่นสีที่ฮัมบูร์ก เยอรมนี การบินไทยประเมินน่าจะให้บริการได้ภายในไตรมาส 3 ปีหน้า เผยได้รับชื่อพระราชทานว่า “ศรีรัตนะ”
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้พาคณะสื่อมวลชนไทยเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบินแอร์บัส ในเครือของบริษัทยูโรเปียน แอโรนอติก ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ โค (EADS) ณ เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส และความคืบหน้าของการผลิตเครื่องบินแอร์บัส รุ่น เอ380-800 ซึ่งบริษัทการบินไทยได้สั่งซื้อไว้จำนวน 6 ลำ เพื่อให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางการบินระหว่างภูมิภาค
สำหรับเครื่องบินแอร์บัส เอ380-800 ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “ซูเปอร์จัมโบ” ถือเป็นเครื่องบินเชิงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน โดยเป็นเครื่องบินลำตัวกว้างพิสัยไกล มีพื้นที่โดยสารขนาดสองชั้นตลอดลำ ซึ่งสามารถบรรจุผู้โดยสารได้มากกว่า 500 คน นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องบินเชิงพาณิชย์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในโลกและประหยัดพลังงาน คือใช้น้ำมันเพียง 3 ลิตรต่อผู้โดยสาร 1 คนต่อระยะทางการบิน 100 กิโลเมตร ทั้งยังสามารถควบคุมมลพิษทางเสียงและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัทการบินไทยได้สั่งจองเครื่อง เอ380 ไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2547
ก่อนหน้านี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยเคยเปิดเผยว่า บริษัทการบินไทยจะนำเครื่องบินแอร์บัส เอ380-800 มาให้บริการในเส้นทางการบินสู่เมืองแฟรงเฟิร์ต ลอนดอน และปารีส ซึ่งถือว่ามีผู้โดยสารหนาแน่นที่สุด จนทำให้เครื่องบินรุ่นโบอิง 747-400 (ความจุ 375 ที่นั่ง) และ 777-300 อีอาร์ (ความจุ 312 ที่นั่ง) ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสาร อีกทั้งด้วยนโยบายในการจำกัดเที่ยวบินของแต่ละสายการบิน ทำให้โอกาสในการขอเพิ่มเที่ยวบินกับประเทศต่างๆ นั้นมีน้อยมาก
“ในด้านการบริการเครื่องบิน เอ380 นี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้โดยสาร เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางและความสะดวกสบายมากขึ้นในทุกชั้นโดยสาร” นายปิยสวัสดิ์ระบุ
เจ้าหน้าที่จากกองประชาสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ บริษัทการบินไทย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการ ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องโบอิง 747-400 แล้ว เครื่องบินแอร์บัส เอ380-800 ถือว่ามีพื้นที่ห้องโดยสารทั้งชั้นบนและชั้นล่างกว้างกว่าถึงร้อยละ 50 มีหน้าต่างช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะที่สูงขึ้นถึง 60 เซนติเมตรหรือราว 2 ฟุต โดยผังผู้โดยสารที่ทางแอร์บัสได้นำเสนอจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 525 ถึง 853 คน แต่เมื่อคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้โดยสารแล้วการบินไทยตัดสินใจว่าจะจัดผังผู้โดยสารจำนวน 507 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็น ที่นั่งโดยสารชั้นหนึ่ง 12 ที่นั่ง ชั้นธุรกิจ 60 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 435 ที่นั่ง
“ในที่นั่งโดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจที่สะดวกสบายอยู่แล้ว สำหรับเครื่อง เอ380 ผู้โดยสารก็จะได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนที่นั่งโดยสารชั้นประหยัดก็จะใหญ่ขึ้นมากโดยมีความกว้างที่นั่ง 18 นิ้วและระยะห่างระหว่างแถว 32 นิ้ว นอกจากนี้ยังออกแบบให้มีจอภาพระบบสัมผัสทุกที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและปลั๊กไฟส่วนตัวสำหรับคอมพิวเตอร์วางตักของผู้โดยสารอีกด้วย” เจ้าหน้าที่จากบริษัทการบินไทยกล่าว
แอร์บัสยันพร้อมส่งมอบลำแรกกลางปีหน้า
นายคีธ สโตนสตรีท ผู้อำนวยการด้านการตลาดเครื่องบิน เอ380 ของแอร์บัส ให้สัมภาษณ์ว่าเครื่องบินรุ่น เอ380 นั้นถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรของเครื่องบินซึ่งจะมีอายุตั้งแต่ 25 ถึง 40 ปี โดย เอ380 เริ่มบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรก ในปี 2551 กับสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ หนึ่งในพันธมิตรของการบินไทยในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นเครื่องบินพิสัยไกลรุ่นที่ดีที่สุดในโลก จนทำให้ปัจจุบันมียอดยืนยันการสั่งซื้อถึง 243 ลำ จากลูกค้า 18 สายการบิน/ราย
“สายการบินที่สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นเอ 380 มากที่สุดคือ สายการบินเอมิเรตส์จำนวน 90 ลำ ขณะที่พันธมิตรในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ก็มีอยู่ 4 รายที่ได้รับมอบเครื่องหรืออยู่ระหว่างการผลิตและส่งมอบเครื่องคือ การบินไทย (6 ลำ) สิงคโปร์แอร์ไลน์ (19 ลำ) เอเชียนาแอร์ไลน์ (6 ลำ) และลุฟท์ฮันซา (17 ลำ)” นายสโตนสตรีทเปิดเผย และว่านอกจากลูกค้าสายการบินแล้ว ยังมีการสั่งซื้อจากลูกค้าส่วนบุคคลอีก 1 ลำด้วย
สำหรับรายละเอียดของการผลิตเครื่องบิน เอ380-800 ของการบินไทยนั้น ผู้อำนวยการด้านการตลาดเครื่องบิน เอ380 ของแอร์บัสเปิดเผยว่า หลังจากชิ้นส่วนต่างๆ ของ เอ380-800 ซึ่งถูกผลิตจากโรงงานใน 4 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปนและสหราชอาณาจักร ถูกลำเลียงมายังเมืองตูลูส ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสแล้วก็จะเข้าสู่สายการประกอบขั้นสุดท้าย หรือ Final Assembly Line ซึ่งขั้นตอนนี้จะกินเวลาราว 6-8 เดือน โดยแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้คือ การประกอบลำตัวเครื่องบินส่วนหน้า ส่วนกลาง ส่วนหลัง รวมไปถึงส่วนปีกและส่วนหางเครื่องบินทั้งแบบแนวนอนและแนวตั้งเข้าด้วยกัน จากนั้นเครื่องบินจะถูกนำไปยังส่วนที่สองเพื่อทำการทดสอบขั้นพื้นฐานด้านระบบไฟฟ้า ระบบไฮโดรลิก เครี่องยนต์ และระบบลงจอดทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้จะมีการติดตั้งเครื่องยนต์ด้วย จากนั้นในส่วนที่สามจึงมีการทดสอบการลงจอดและการทำงานของเครื่องยนต์ โดยเครื่องบินจะถูกทดสอบในโรงงานที่สร้างขึ้นเฉพาะนอกอาคารหลัก และลำดับสุดท้ายเครื่องบินแอร์บัส เอ380 จะทำการบินเที่ยวแรกไปยังโรงงานแอร์บัสในเมืองฮัมบูร์ก เพื่อทำการตกแต่งและลงสีเครื่อง ก่อนที่จะบินกลับมายังโรงงานที่ตูลูสเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าในที่สุด
“สายการประกอบขั้นสุดท้ายของ เอ380 จะใช้เวลาประมาณ 6 ถึง 8 เดือน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของเครื่องบิน ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับลูกค้า เอ380 ที่จะต้องรับเครื่องบินลำแรกก็จะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบนานกว่าลำถัดๆ มา สำหรับเครื่อง เอ380 ของการบินไทยจะมีอะไรพิเศษกว่าของคนอื่นๆ คงต้องให้การบินไทยเป็นคนบอก" นายสโตนสตรีทกล่าว และว่าในส่วนเครื่องของการบินไทย หลังจากชิ้นส่วนทั้งหมดเข้ามาในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ปัจจุบันเครื่องลำแรกของการบินไทยกำลังอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบไฟฟ้า ไฮโดรลิก เครื่องยนต์ ระบบลงจอด และการทดสอบเครื่องยนต์ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ โดยความคืบหน้าในส่วนสายการประกอบขั้นสุดท้ายนี้ตนประเมินว่าอยู่ที่ร้อยละ 30
“ปีใหม่เครื่องน่าจะบินไปอยู่ที่ฮัมบูร์ก ซึ่งจะมีการติดตั้งระบบครัว เบาะนั่ง และอุปกรณ์พิเศษอื่นๆ ที่ทางการบินไทยได้ออกแบบและสั่งทำเอาไว้ จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการลงสีเครื่องซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และถ้าทุกอย่างเรียบร้อยเครื่องบินของการบินไทยก็จะบินกลับมายังตูลูส เพื่อรอการตรวจสอบจากลูกค้าและส่งมอบต่อไป โดยกระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นภายในช่วงกลางปีหน้า (พ.ศ.2555)” ผู้อำนวยการด้านการตลาดเครื่องบิน เอ380 กล่าวยืนยัน
ด้านเจ้าหน้าที่จากบริษัทการบินไทยกล่าวเสริมว่า ตามแผนงาน หลังจากที่การบินไทยได้รับมอบเครื่องบิน เอ 380-800 ลำแรกจากแอร์บัสในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 แล้ว ทางบริษัทจะนำมาให้บริการบนเส้นทางในภูมิภาคก่อนเช่น เส้นทางกรุงเทพ-ฮ่องกง เพื่อรออีก 5 ลำที่จะตามมา ซึ่งจะทำให้การบินไทยสามารถให้บริการผู้โดยสารด้วยเครื่องบินแบบ เอ380-800 บนเส้นทางระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะในเส้นทางยุโรปได้อย่างเต็มรูปแบบ
อนึ่ง บริษัทการบินไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามเครื่องบินแอร์บัส รุ่น เอ380-800 ลำแรกของบริษัทและของประเทศไทยว่า “ศรีรัตนะ”