xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วม 54 ทุบจีดีพีทรุด ลุ้นเม็ดเงิน 5.5 แสนล้าน หนุน ศก.ปีหน้าโต 7%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หอการค้าฯ ชี้ เศรษฐกิจไทยปี 54 หดตัวเหลือแค่ 1.4% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี หลังเจอพิษอุทกภัยยาวนาน ลุ้นอัดฉีดเม็ดเงิน 5.5 แสนล้านเข้าระบบ ทั้งจากลงทุนภาครัฐ ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู และเงินเคลมประกันไหลเข้าจากต่างประเทศ พร้อมคาดปีหน้า จีดีพีอาจโตได้แค่ 4.7% แต่หากเม็ดเงิน 5.5 แสนล้านเข้ากระตุ้นได้จริง และส่งออกโตได้ 15% จีดีพีจะมีโอกาสโตได้ถึง 7%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ได้ปรับประมาณการณ์ตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยปี 2555 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4.7% จากช่วง ต.ค.ที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโต 4.3% เนื่องจากเศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักทั้งการใช้งบเยียวยาน้ำท่วม 1.3 แสนล้านบาท และงบประมาณขาดดุลที่รัฐบาลกำหนดไว้ผ่านโครงการของภาครัฐอีก 4 แสนล้านบาท หรือมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไตรมาสแรก 5 แสนล้านบาท รวมถึงนโยบายเพิ่มรายได้ของภาครัฐทั้งจากการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน และโครงการรับจำนำข้าว ที่จะทำให้เกษตรและภาคแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นรวม 1.5 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกเติบโต 3-4% และครึ่งปีหลังเติบโต 5-7%

ส่วนการส่งออกในปี 2555 คาดว่า จะขยายตัวได้ 10.2% เป็นอัตราเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนจากปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะเติบโต 4% แต่หากกระทรวงพาณิชย์สามารถผลักดันการส่งออกปีหน้าให้เติบโตได้ 15% ตามเป้าหมายที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กำหนดไว้ ภาคการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโตได้ในระดับ 7% ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้ได้

สำหรับอัตราเงินเฟ้อปี 2555 คาดว่า จะเติบโตในระดับ 3.5-4% โดยแนวโน้มเงินเฟ้อปีหน้า ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศยังไม่กระเตื้อง จากผลกระทบของน้ำท่วม คาดว่า ราคาสินค้าปีหน้าจะทรงตัวไม่ปรับราคาขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยในการปรับราคาสินค้า โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก เพราะกว่ากำลังซื้อภายในประเทศจะฟื้นเต็มที่จะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป และมีโอกาสที่ดอกเบี้ยเชิงนโยบายจะสามารถปรับขึ้นได้ 0.5% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยไม่กระทบกับผู้ประกอบการไทยมากนัก ส่วนปัจจัยการเมืองในปีหน้า ยังไม่มีสถานการณ์ใดน่าเป็นห่วงจนกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่า จะเติบโตในระดับ 1.4% เท่านั้น ต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดยมีสาเหตุจากผลกระทบน้ำท่วมเป็นหลัก ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ขยายตัวติดลบ 3.7% เป็นผลจากการผลิตของภาคเกษตรไตรมาส 4 ติดลบ 5.8% การผลิตของภาคอุตสาหกรรมติดลบ 10.4% ส่วนภาคการใช้จ่าย โดยการบริโภคของเอกชนในไตรมาส 4 ติดลบ 2.0% และภาคการลงทุน ติดลบ 1.0% ขณะที่ภาคการส่งออกไตรมาส 4 ติดลบ 5.5% แต่การส่งออกทั้งปี 2554 จะยังขยายตัวได้ในระดับ 16.5% เนื่องจากการส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวไว้สูงมาก

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจรายภูมิภาค พบว่า ไตรมาส 4 เศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคขยายตัวลดลงจากผลกระทบน้ำท่วม ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัว 2.7% ภาคเหนือ ติดลบ 1.3% ภาคใต้ 2.5% ภาคกลาง ติดลบ 7.8% กทม.และปริมณฑล ติดลบ 4.6% ทำให้เศรษฐกิจรายภูมิภาคทั้งปี 2554 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัว 2.6% ส่วนปี 2555 ขยายตัว 2.8% ภาคเหนือ ปี 2554 ขยายตัว 1.3% ปี 2555 ขยายตัว 3.8% ภาคใต้ ปี 2554 ขยายตัว 2.5% ปี 2555 ขยาย 2.8% ภาคกลาง ปี 2554 ขยายตัว 1.1% ปี 2555 ขยายตัว 6.1% ส่วนกทม.และปริมณฑล ปี 2554 ขยายตัว 1.0% และปี 2555 ขยายตัว 4.8%

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2554 และแนวโน้มปี 2555 พบว่า ปี 2554 การขยายตัวด้านเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ที่ 1.4% โดยการผลิตภาคการเกษตรขยายตัว 1.4% นอกภาคการเกษตรขยายตัว 1.4% แต่ภาคอุตสาหกรรมติดลบ 1.4% การใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.6% การลงทุนขยายตัว 4.5% รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัว 17.1% มูลค่า 693,900 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.25% อัตราเงินเฟ้อ 3.9% อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.0% การส่งออกขยายตัว 16.5% มูลค่า 225,659.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกินดุลการค้า 15,947.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 7,947 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 3.8% ของจีดีพี

“อัตราการขยายตัวในปี 2554 ขยายตัวในอัตราที่ไม่มากนัก จากผลกระทบของปัญหาน้ำท่วมที่ทำให้การบริโภคใช้จ่ายภายในประเทศ การลงทุน และภาคการเกษตร มีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ที่มีภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง ส่งผลต่อการผลิตเพื่อการส่งออกให้ชะลอตัวลงไปด้วย ทำให้จีดีพีในไตรมาสสุดท้ายของปีขยายตัวติดลบ 3.7% และดึงให้ภาพรวมทั้งปีเหลือแค่ 1.4% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปี” นางเสาวนีย์ กล่าว

สำหรับปี 2555 คาดว่า จะขยายตัว 4.7% การผลิตภาคการเกษตรขยายตัว 3.4% นอกภาคการเกษตรขยายตัว 4.9% ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 5.5% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5% การลงทุนขยายตัว 10.6% การท่องเที่ยวขยายตัว 5.4% มูลค่า 731,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.75-4.0% อัตราเงินเฟ้อ 3.5-4.0% อัตราว่างงานอยู่ที่ 0.7% การส่งออกขยายตัว 10.2% มูลค่า 248,578 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกินดุลการค้า 5,567 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4,894 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ1.3% ของจีดีพี
กำลังโหลดความคิดเห็น