xs
xsm
sm
md
lg

เฟอร์เฟคปรับแผนรับมืออุทกภัยเพิ่มงบ 5-10% ยกโครงการหนีน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชายนิด โง้วศิริมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เชื่อว่า เกิดจากการบริหารน้ำที่ผิดพลาดของไทย คาดว่า มูลค่าความเสียหายในครั้งนี้ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนความเสียหายต่อบ้านเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กินพื้นที่กว่า 80% ของพื้นที่ บ้านเรือนเสียหายประมาณ 1 ล้านหน่วย แบ่งเป็นโครงการจัดสรร 549,888 หน่วย ในจำนวนนี้เป็นบ้านแนวราบ 461,664 หน่วย และห้องชุด 88,224 หน่วย

อย่างไรก็ดี รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค แบ่งเบาภาระในช่วงหลังน้ำท่วม เช่น หักลดหย่อนภาษีเงินซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น การลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ ยกเว้นค่าธรรมเนียมโอนฯและจดจำนอง การลดหย่อนเงินต้นซื้อบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางภาครัฐควรเร่งจัดทำแนวทางป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า การขยายคลอง และทำคันกั้นน้ำถาวรในจุดเสี่ยง มีการก่อสร้างฟลัดเวย์ที่ช่วยในการระบายน้ำลงสู่ทะเล และที่สำคัญ ควรพิจารณาเรื่องการทำเขื่อนกั้นน้ำแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องจากกรุงเทพฯถึงปทุมธานี และการสร้างระบบระบายน้ำในจังหวัดนนทบุรี และปทุมธานี ให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับกรุงเทพฯ

ส่วนผลกระทบต่อบริษัทมีโครงการที่ได้รับผลกระทบ 9 โครงการ จากโครงการที่พัฒนาทั้งหมด 27 โครงการ ซึ่งมีผลกับมูลค่า Backlog ที่เตรียมจะโอนกรรมสิทธิ์ ประมาณ 250 ล้านบาท จาก Backlog ที่มีอยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคอนโดมิเนียม 3,000 ล้านบาท ส่วนอีก 1,000 ล้านบาทเป็นโครงการแนวราบ ซึ่ง Backlog ดังกล่าวจะสามารถรับรู้รายได้ในปีนี้ 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่า ทั้งปี 54 จะสามารถรับรู้รายได้ใกล้เคียง หรือมากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 8,000 ล้านบาท ส่วนผลกระทบต่อยอดขายนั้น คาดว่า ในไตรมาส 4 จะสร้างยอดขายได้เพียง 3,000 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้ 4,500 ล้านบาท โดยทั้งปีน่าจะมียอดขายประมาณ 11,000 ล้านบาท

“คาดว่า ยอดขายที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวสต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 55 ซึ่งก่อนหน้านี้กำลังซื้อได้ชะลอตัวมากตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นในไตรมาส 2 ตลาดจะมีเรงซื้อเข้ามามากขึ้นเนื่องจากมีการชะลอซื้อมาแล้วกว่า 9 เดือน และคาดว่าทั้งปี 55 ตลาดอสังหาฯจะมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 10% อย่างไรก็ตาม ในช่วงน้ำในหลายพื้นที่ลดระดับลง ได้สส่งผลต่อยอดขายปรับตัวดีขึ้นมาลูกค้าเริ่มกลับเข้ามาเยียมโครงการแล้วประมาณ 80% จากช่วงปกติ” นายชายนิด กล่าว

สำหรับทิศทางตลาดอสังหาฯหลังน้ำลด คาดว่า ทำเลที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะมีการขยายตัวที่ดี ซึ่งได้แก่ โซนตะวันออก อาทิ มีนบุรี ศรีนครินทร์ บางนา และโซนตะวันตก เช่น พระราม 2 ราชพฤกษ์ ส่วนการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยนั้นจะเกิดขึ้นประมาณ 20% เท่านั้นซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ย้ายที่ทำงาน ซึ่งที่ดินในทำเลนี้มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10-25% ในขณะที่ที่ดินที่ตั้งอยู่ในทำเลน้ำท่วม คาดว่า จะปรับลดลงมาประมาณ 10-15% ส่วนตลาดบ้านแนวราบราคา 1-5 ล้านบาทได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งกลุ่มนี้บางส่วนจะหันไปซื้อคอนโดมิเนียมอยู่อาศัยแทนส่งผลให้คอนโดราคา 1-5 ล้านบาท ได้รับอานิสงส์ไปด้วย

นายชายนิด กล่าวต่อว่า ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้บริษัทปรับแผนการดำเนินงานใหม่ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาโครงการ ซึ่งมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ในไตรมาส 4 ปีนี้ 5 โครงการ เป็นโครงการบ้านเดี่ยว 3 โครงการ ย่านรังสิต แจ้งวัฒนะ และรัตนาธิเบศร์ มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 2 โครงการ มูลค่า 4,000 ล้านบาท

ส่วนแผนพัฒนาในปี 55 จะมีโครงการใหม่รวมทั้งสิ้นกว่า 10 โครงการ ทั้งแนวสูงและแนวราบ โดยเป็นที่ดินที่เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เช่น กรุงเทพกรีฑา และแจ้งวัฒนะ รวมไปถึงที่ดินที่พัฒนาอยู่ก่อนหน้านี้ที่จะพัฒนาเป็นเฟสต่อเนื่อง และจะมี 5 โครงการที่เตรียมจะเปิดตัวในไตรมาส 4/54 ต้องชะลอตัวและเลื่อนแผนไปเปิดตัวในปี 55 รวม 5 โครงการ แบ่งเป็นแนวราบ 3 ทำเล คือ ที่รังสิต, แจ้งวัฒนะ, รัตนาธิเบศร์ รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม ย่านพระราม4 และสุทธิสาร รวมมูลค่า 4,000 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณในการซื้อที่ดินปี 54 และปี 55 เดิมตั้งเป้าไว้ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท ได้ปรับลดปีละ 500 ล้านบาท เพื่อรอดูสถานการณ์ตลาดหลังจากนี้ต่อไปว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และหากรัฐบาลยังไม่ตัดสินใจลงทุนเรื่องระบบป้องกันน้ำท่วมในแถบ จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี ในอนาคต บริษัทจะยังไม่ลงทุนซื้อที่ดินในย่านนี้เพิ่ม จะพัฒนาที่ดินเดิมเท่านั้น

นอกจากนี้ บริษัทยังได้วางระบบป้องกันน้ำท่วมในระยะยาวสำหรับโครงการที่จะพัฒนาใหม่โดยออกแบบการป้องกันใน 3 ระดับ ได้แก่ (1) ระบบป้องกันระดับโครงการ จะมีการถมดินให้ระดับพื้นในโครงการสูงกว่าถนนภายนอก 0.3 เมตร ยกเนินบริเวณทางเข้าให้สูงกว่าระดับถนนภายนอก 1.1 เมตร ติดตั้งสถานีสูบน้ำ จัดทำประตูเปิดปิดบ่อพักสาธารณะ และจัดทำรั้วโครงการให้ป้องกันน้ำเข้าทั้งบนผิวดินและใต้ดิน ซึ่งหากมีน้ำท่วมสูง 1 เมตร น้ำจะไม่เข้าในโครงการ (2) ระบบป้องกันระดับรั้วบ้าน โดยการเพิ่มเสาเหล็กสำหรับติดตั้งแผ่นป้องกันน้ำ ซึ่งจำลองแบบมาจากสถานีรถไฟฟ้า และ (3) ระบบป้องกันระดับตัวบ้าน จะมีการถมดินระดับที่จอดรถให้สูงกว่าระดับถนน 0.5 เมตร และระดับพื้นบ้านให้สูงกว่าระดับถนน 1.1 เมตร หากมีน้ำท่วมสูง 1 เมตร น้ำก็จะไม่เข้าภายในตัวบ้าน ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายได้ นอกจากนี้ ยังมีการทำช่องปิดบ่อพัก และวาล์วปิดเปิดท่อระบายน้ำก่อนลงบ่อพัก เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกเข้ามาภายในบ้านทางบ่อพัก รวมทั้ง การปรับจุดติดตั้งสวิทซ์ ปลั๊ก และตู้ไฟฟ้า ให้สูงขึ้นเพื่อความปลอดภัยอีกด้วย

“การวางแนวป้องกันดังกล่าวทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าถมดินเพิ่มไร่ละ 1 แสนบาท ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆก็จะต้องปรับรูปแบบการพัฒนาเพื่อป้องกันน้ำท่วมในอนาคตเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนก่อสร้างปรับขึ้น 5-10% ขึ้นอยู่กับระบบป้องกัน และจะกระทบราคาบ้านประมาณ 2-3% อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาอันใกล้นี้ผู้ประกอบการจะยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาบ้านได้เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้อ และจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของผู้ประกอบการลดลง แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการจะยังคงรับได้เพราะในปีหน้ารัฐบาลจะปรับลดภาษีรายได้ลงจาก 30% เหลือ 23%” นายชายนิด กล่าว

**เล็งปรับธุรกิจไดโดมอนเป็นศูนย์การค้า**

สำหรับการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท ไดโดมอน จำกัด (มหาชน) (DAIDO) ในสัดส่วน 80% นั้น นายชายนิด คาดว่า จะแล้วเสร็จและสามารถชำระเงินได้ภายในช่วงต้นปี 55 หลังจากนั้น จะปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิมของไดโดมอนจากอาหารเป็นธุรกิจพัฒนาศูนย์การค้าในลักษณะคอมมูนิตี้มอลล์ โดยการเข้าซื้อครั้งนี้เป็นการเข้าซื้อสถานะของบริษัทเพื่อนำธุรกิจใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดทางอ้อม และคาดว่า จะสร้างรายได้ในปี 55 ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากค่าเช่า

ทั้งนี้ บริษัทมองหาพันธมัตรจากต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา โดยคาดว่า ในเร็วๆ นี้จะได้เห็นโครงร่างศูนย์การค้า 2-3 แห่ง ในโครงการจัดสรรของบริษัทที่มีศักยภาพ และตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งจะใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 400-500 ล้านบาท คาดว่า จะน้ำที่ดินติดโครงการเมโทรพาร์คสาทรมาพัฒนาก่อนโดยจะมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตร.ม.และทำเลรัชดาขนาด 40,000-50,000 ตร.ม.ซึ่งเมื่อพัฒนาได้ระดับหนึ่งอาจจะตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายศูนย์การค้าดังกล่าวเข้าเป็นสินทรัพย์ของกองทุนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น